‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘ทรงตัว’ ที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้(3 ธ.ค.) ทรงตัวระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย”ชี้ ตลาดหวังโอไมครอนแพร่เชื้อเร็วแต่ไม่รุนแรงเท่าเดลต้า เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้33.75-33.95 บาทต่อดอลลาร์ บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้(3ธ.ค.)ที่ระดับ  33.88 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวในระดับอ่อนค่าสุดรอบ 2 เดือน จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.95 บาทต่อดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่าง คาดหวังว่า โอไมครอน  แม้จะแพร่ระบาดได้เร็วกว่า เดลต้า แต่ก็อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงมากกว่าและวัคซีนที่มีในปัจจุบันยังสามารถรับมือได้ 

มุมมองดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาปรับฐานลงมาพอสมควรจากความกังวลการระบาดของโอไมครอน  ก่อนหน้า (Buy on Dip) ส่งผลให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 พุ่งขึ้นกว่า +2.5% ตามด้วยดัชนี Dowjones +1.8% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการบินและการเดินทาง อาทิ Boeing +7.6% ส่วน S&P500 ปิดตลาด +1.42%

ในขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นมาเพียง +0.83%  เนื่องจากหุ้นเทคฯ ยังคงถูกกดดันโดยมุมมองของประธานเฟดรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด อาทิ การเร่งลดคิวอี ท่ามกลางความกังวลของเฟดว่าเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าที่เคยประเมินไว้

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงต่อ -1.7% สะท้อนว่าตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของ Delta ณ ปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงการระบาดของ Omicron ซึ่งล่าสุดส่งผลให้ รัฐบาลเยอรมนีต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อนึ่ง ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด ASML -5.8%, Adyen -4.0%, Infineon Tech. -3.9% 

ทั้งนี้ แม้ว่า sentiment ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจฟื้นตัวดีขึ้นตามตลาดสหรัฐฯ แต่เรามองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า การปรับฐานของตลาดอาจจบแล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของ Omicron ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ Omicron ยังมีอยู่ไม่มาก ซึ่งอาจต้องรอการยืนยันจากบริษัทผลิตวัคซีนว่าวัคซีนปัจจุบันยังสามารถรับมือกับ Omicron ได้ โดยคาดว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีการรายงานภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดหุ้นมีการปรับฐานหนักสู่แนวรับหลักอีกครั้ง ก็จะเปิดโอกาสในการเข้าทยอยสะสมหุ้นที่น่าสนใจได้ 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาพตลาดเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มเฟดพร้อมเร่งลดคิวอี ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.43% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า แม้ตลาดหุ้นจะรีบาวด์ขึ้นมาพอสมควร แต่บอนด์ยีลด์กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก สะท้อนว่าผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การระบาด และเลือกที่จะเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยไว้ก่อน หรือมีผู้เล่นบางส่วนรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เพื่อ buy on dip เพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยชั่วคราว 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นมาเล็กน้อย โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้แกว่งตัวในระดับ 96.16 จุด หนุนโดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแนวโน้มเฟดเร่งลดคืวอี นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังคงกังวลต่อความผันผวนในตลาด อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่มาพร้อมกับ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1,770 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการระบาดของ โอไมครอน  ซึ่งอาจถูกสนับสนุนโดยข้อมูลวิทยาศาสตร์ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เรามองว่า upsides ของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัดและจะเหลือเพียงปัจจัยความกังวลเงินเฟ้อที่อาจพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำไม่ปรับฐานหนักได้

อนึ่ง สินทรัพย์ในตลาดที่ผันผวนหนักในช่วงคืนที่ผ่านมา คือ ราคาน้ำมันดิบ ที่ปรับฐานหนักเกือบ -4% หลังจากที่กลุ่ม OPEC+ มีมติเพิ่มกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ในดือนมกราคม ตามที่เคยวางแผนไว้ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันรีบาวด์ขึ้นแรงและปิดตลาดที่ระดับเดิมก่อนผลการประชุม OPEC+ (ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ 70.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า กลุ่ม OPEC+ อาจปรับลดกำลังการผลิตหรือยกเลิกการเพิ่มกำลังการผลิตได้ ตามสถานการณ์ของตลาดน้ำมันหรือความต้องการใช้พลังงาน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โอไมครอน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นไฮไลท์สำคัญของข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls:NFP) ซึ่งตลาดต่างประเมินว่า หากยอด NFP ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนตำแหน่ง อาจหนุนให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่สนับสนุนการเร่งลดคิวอีในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับมุมมองของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการเร่งลดคิวอีจากเดือนลด 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้การทำคิวอีของเฟดจะยุติลงภายในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจะช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.50% อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) เนื่องจาก BOT คงมองเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนในฝั่งอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะ บอนด์ระยะสั้นตามการปรับสถานะเก็งกำไรเงินบาทของผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งล่าสุดนักลงทุนต่างชาติได้ขายบอนด์ระยะสั้นมาตลอดทั้งสัปดาห์กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่านั้นมาจากความกังวลปัญหาการระบาดของ โอไมครอน เป็นหลัก

นอกจากนี้ เงินบาท ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทองคำบางส่วนยังทยอยเข้ามา Buy on Dip แต่ยังไม่มีจังหวะการรีบาวด์ของราคาทองคำ ที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถขายทำกำไรได้ (โฟลว์ขายทำกำไรทองคำจะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้) 

นอกจากนี้ สัญญาณเชิงเทคนิคัลในระยะสั้นยังคงชี้ว่าเงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ทำให้ผู้เล่นต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทฝั่งแข็งค่า อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า จังหวะกลับตัวมาแข็งค่าของเงินบาทอาจเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

หากข้อมูลวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า การเร่งระดมแจกวัคซีนสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโอไมครอน ได้ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจไม่ซบเซาหนัก ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน

ดังนั้น ในระยะนี้ เราประเมินว่า ตลาดค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ ผู้ประกอบการควรเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น