คมนาคมเสนอ ครม.ปีหน้า ลุยต่อขยายไฮสปีดไทย - จีน และทางคู่หนองคาย

คมนาคมเสนอ ครม.ปีหน้า ลุยต่อขยายไฮสปีดไทย - จีน และทางคู่หนองคาย

“ศักดิ์สยาม” ดันระบบรางหนุนไฮสปีดลาว - จีน จ่อเสนอ ครม.ปีหน้าลุยประมูลสร้างส่วนต่อขยายไฮสปีดไทย - จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย และรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย มั่นใจเปิดให้บริการปี 2570 รับดีมานด์ขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทยและเยอรมนี วันนี้ (2 ธ.ค.) โดยระบุว่า ความร่วมมือทางด้านรถไฟระหว่างไทยและเยอรมัน ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กระทรวงฯ มุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ไทยและเยอรมันจะสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางของไทยให้ยั่งยืน ซึ่งแผนพัฒนาระบบรางของไทยในขณะนี้มีทั้งรถถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รวมไปถึงรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) โดยเบื้องต้นในปีหน้า กระทรวงฯ จะเสนอรถไฟทางคู่สายขอนแก่น - หนองคาย และไฮสปีดเทรนไทย - จีน ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ และจะเร่งรัดประกวดราคาเริ่มก่อสร้างในปี 2566 เพื่อเปิดบริการในปี 2570

คมนาคมเสนอ ครม.ปีหน้า ลุยต่อขยายไฮสปีดไทย - จีน และทางคู่หนองคาย

 

“รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมระบบรางอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในโอกาสรองรับรถไฟลลาว - จีน กระทรวงฯ โดยกรมการขนส่งทารางและ สนข.พิจารณามาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งทีมงานไปที่ลาวเพื่อดูข้อมูลการเปิดการเดินรถของทางจีนลาวที่เป็นรางเดี่ยว สามารถดำเนินการขนสินค้า หรือผู้โดยสารต่อวันในจำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำมาวางแผนรองรับ”

ทั้งนี้ ไทยยังเชื่อว่าแผนขนถ่ายสินค้ามายังฝั่งไทยที่กำหนดอยู่ในปัจจุบันยังเพียงพอ เนื่องจากรถไฟจากฝั่งลาวปัจจุบันยังเป็นช่วงที่มาไม่ถึงชายแดนไทย และมีระบบรางเดี่ยวที่เชื่อมกันอยู่แล้ว ซึ่งปริมาณการขนส่งสินค้าในขณะนี้มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งไทยได้เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนอยู่แล้ว ประกอบกับการพัฒนารถไฟทางคู่ที่จะไปสิ้นสุดจังหวัดหนองคาย เชื่อว่าเมื่อเปิดให้บริการจะสามารถรองรับดีมานด์การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญของการเชื่อมต่อโครงข่ายการขนส่งชายแดนลาว คือการก่อสร้างสะพานเพื่อเชื่อมรถไฟ เพราะสะพานเดิมรองรับรถยนต์และรถไฟด้วย รองรับแค่ 15 ตัวต่อตู้ โดยไทยจะเพิ่มให้เป็น 30 ต่อตู้ รวมทั้งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ยังอยู่ระหว่างเร่งรัดพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้าชั่วคราวที่จังหวัดหนองคายด้วย