จับตาเศรษฐกิจโลกปี 65 ‘ฟื้น-ไม่ฟื้น’ขณะเงินเฟ้อพุ่ง

จับตาเศรษฐกิจโลกปี 65 ‘ฟื้น-ไม่ฟื้น’ขณะเงินเฟ้อพุ่ง

ปี 2564 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นจากอาการโคมาเพราะโควิด-19 ระบาด แต่เงินเฟ้อพุ่งสูง ปัญหาคอขวดในซัพพลายเชนโลก และโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ทำให้เกิดความวิตกว่าอีกนานแค่ไหนกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นได้จริงๆ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หากพิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในตอนนี้ ปีหน้ามีแนวโน้มอ่อนแรงจากหลายปัจจัย

การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน

หลายประเทศรายงานตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวอย่างหน้าประทับใจ ชี้ให้เห็นว่าประเทศเหล่านั้นค่อยๆ ขยับออกจากจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้แล้ว แถมบางประเทศยังทำได้ดีกว่าที่อื่นๆ มาก เมื่อประเทศรวยกว่าเข้าถึงวัคซีนได้มากกว่า

สหรัฐก้าวข้ามความเสื่อมถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (the Great Depression) เศรษฐกิจยูโรโซนก็อาจจะฟื้นคืนสู่ระดับก่อนโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่การที่โควิดกลับมาระบาดอีกครั้งคราวนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอนยิ่งเพิ่มความกังวลรอบใหม่

“โควิด-19 ยังคงเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำ” นักวิเคราะห์จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์” ให้ความเห็น ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่ 2.5% เศรษฐกิจของภูมิภาคซับซะฮาราในแอฟริกากำลังเติบโตชลอลง ภายในปี 2567 ประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงห่างไกลจากประมาณการณ์เมื่อก่อนโควิดระบาดอยู่มาก

ธนาคารกลางในบราซิล รัสเซีย และเกาหลีใต้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ความเคลื่อนไหวนี้อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตโลก กำลังเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทั้งผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ การขาดแคลนพลังงาน และความวิตกเรื่องวิกฤติหนี้สินของยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์อย่างบริษัทเอเวอร์แกรนด์

เงินเฟ้อพุ่ง

หลายประเทศทั่วโลกเงินเฟ้อเร่งตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี เมื่อผู้บริโภคกลับมาด้วยความรู้สึกอยากใช้จ่ายให้สาสมกับที่ต้องรอมานาน และอุตสาหกรรมขาดแคลนวัตถุดิบ

ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ วัตถุดิบจำพวกไม้ ทองแดง เหล็ก ราคาถูกขึ้นทะลุเพดาน นักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซคส์ระบุไว้ในรายงานแนวโน้มปี 2565 “สิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่สุดในปี 2564 คือ เงินเฟ้อพุ่งขึ้นนำโดยสินค้า”

ธนาคารกลางทั้งหลายยืนยันว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเป็นผลชั่วคราวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาปกติในปีนี้ หลังจากชะงักไปเพราะโควิดระบาดในปี 2563

ตลาดหุ้นก็ทำสถิติสูงสุดในปีนี้ แต่นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางจะยกเลิกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดเพื่อคุมเงินเฟ้อ

“คำถามคือจริงๆ แล้วเราถึงจุดสิ้นสุดของวิกฤติหรือยัง” โรเอล บีตสมา อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมตั้งข้อสังเกต

ขาดแคลนแทบทุกอย่าง

ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมพยายามรับมือกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมาก ที่ผ่านมาการค้าโลกสะดุดเพราะตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ามีไม่พอ เกิดความติดขัดที่ท่าเรือ และขาดแคลนแรงงาน

ส่วนประกอบสำคัญอันหนึ่งที่ตอนนี้ยังขาดแคลนคือเซมิคอนดักเตอร์ ที่ใช้ในทุกๆ อย่างตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงแผงควบคุมวีดิโอเกมและระบบไฟฟ้าในรถยนต์

การขาดแคลนชิพรุนแรงถึงขนาดผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องระงับการผลิตในโรงงานบางแห่งเป็นการชั่วคราว เมื่อแรงงานขาดแคลนด้วยก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหา เช่น หลังล็อกดาวน์คนขับรถบรรทุก คนงานท่าเรือ และแคชเชียร์ไม่กลับมาทำงาน แต่แม้จะเป็นความยากลำบาก ไอเอ็มเอฟคาดว่า ปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตดีที่ 4.9%

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกเหนือจากโควิดระบาด ประเทศต่างๆ ต้องเจอเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตในปีนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความขัดแย้งระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคุ้มครองโลกถูกนำมาหารือในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์เมื่อช่วงต้นเดือน

หลังจากเจรจากันดุเดือดสองสัปดาห์ เกือบ 200 ประเทศลงนามข้อตกลงลดโลกร้อน แต่ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจำเป็นมากในการป้องกันอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึงระดับอันตราย

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ภัยแล้งและหายนะด้านภูมิอากาศอื่นๆ เสี่ยงดันให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอีก หลังจากพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีมาแล้วในเดือน ต.ค. ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้น 40% ในปีที่ผ่านมา ส่วนผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 15% น้ำมันพืชทุบสถิติใหม่

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึี่งเผยกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า สำหรับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย กระนั้นขนาดของความเสียหายก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสายพันธุ์

ที่แน่ๆ การใช้จ่ายภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มอ่อนตัวลง เผลอๆ การใช้จ่ายในร้านอาหารและชอปปิงในห้างสรรพสินค้าอาจลดลงด้วย แต่เมื่อเทียบกับการระบาดระลอกแรกเมื่อเดือน มี.ค.2563 และการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ภัยคุกคามจากโอมิครอนต่อประเทศต่างๆ ดูน่าจะรุนแรงน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโควิดแต่ละสายพันธุ์สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจลดลง

อัตราการฉีดวัคซีนก็เพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นไปได้ที่จะลดความเสี่ยงด้านสุขภาพอันเกิดจากโอมิครอน รัฐบาลนานาประเทศไม่มีทีท่าจะล็อกดาวน์เป็นวงกว้างเหมือนที่เคยทำก่อนหน้านี้ เนื่องจากทำแล้วถูกประชาชนต่อต้าน และมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับมาตรการสกัดโควิดที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

ในมิติของการค้าการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ย. คาดว่า การค้าโลกปี 2564 จะมีมูลค่าราว 28 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2563 แต่แนวโน้มปี 2565 ยังไม่แน่นอน

ความต้องการสินค้าที่โตแข็งแกร่งสวนทางกับบริการ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการผ่อนคลายข้อจำกัดคุมโควิด รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นรวดเร็ว