ยะลา ตรวจเชิงรุกแคมป์คนงาน ติดเชื้อเพิ่มอีก 46 ราย

แรงงานจังหวัดยะลา นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างใน อ.เมืองยะลา หลังพบแรงงานติดเชื้อ "โควิด-19" จำนวน 57 ราย ผลตรวจสวอปอีกครั้งพบผลเป็นบวกอีก 46 ราย

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64 นางสาวพุทธชาด อินทรสวา แรงงานจังหวัดยะลา พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา จัดหางานจังหวัดยะลา และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดยะลา ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา สาธารณสุขอำเภอเมืองยะลา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลสะเตงนอก และเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอเมืองยะลา ได้เข้าตรวจสอบแคมป์พักคนงานก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดบำรุงโยธากิจ หมู่ 12 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งได้รับรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบแรงงานในแคมป์ก่อสร้างดังกล่าว ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 57 ราย เมื่อวันที่ 26 พ.ย.64 ที่ผ่านมา

โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบในวันนี้ (1 ธ.ค.64) ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนบำรุงโยธากิจ ในการนำแรงงานก่อสร้างที่เป็นผู้เสี่ยงสัมผัสสูงจำนวน 117 ราย เป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาร์ 117 ราย พร้อมด้วยหัวหน้างานและพนักงานอีกจำนวน 14 รายรวมเป็น 131 ราย เข้ารับการตรวจสวอปด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งหมด พบเป็นผลบวกอีกจำนวน 46 ราย ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงได้จัดชุดยาพาวิฟิราเวียร์ให้กับแรงงานที่ติดเชื้อได้กินทันที ที่ตรวจพบผลเป็นบวก

นางสาวพุทธชาด อินทรสวา แรงงานจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ เป็นนโยบายและคำสั่งการ จากนายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งได้กำชับให้เข้ามาดูแลทั้งผู้ประกอบการและกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อ โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเมืองยะลา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลสะเตงนอก ในการตรวจหาเชื้อกลุ่มแรงงานที่เหลือ ซึ่งเป็นผู้เสี่ยงสัมผัสสูงกับกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ก็ได้เน้นย้ำ และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรวมถึงแรงงานที่ดูแล ให้เฝ้าระวังตตนเองอยู่เสมอและยังคงถือปฏิบัติการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมืออยู่บ่อยครั้งและการเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ และสิ่งสำคัญคือ กลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่แสดงอาการใด แต่เมื่อตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ก็พบว่า มีการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่แสดงอาการ ก็สืบเนื่องจาก การรณรงค์ในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานในพื้นที่

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานแรงงานจังหวัดยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงแรงงาน ก็ให้ความสำคัญทั้งในส่วนของผู้ประกอบและลูกจ้างแรงงาน เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ต้องมีการปฏิบัติ ตามขั้นตอนกระบวนการดูแลรักษา เช่นการแจกจ่ายยาพาวิฟิราเวียร์ การแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ให้กับกลุ่มแรงงานได้นำไปใช้ และกำชับให้มีการกักตัวผู้ที่ติดเชื้อให้อยู่ภายในบริเวณที่พัก และจะมีการตรวจประเมิน ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง