ส.อ.ท. เปิด FTI Poll เผยราคาพลังงานดันต้นทุนผลิตสูงขึ้น 10-20% อีก 3-6 เดือน

ส.อ.ท. เปิด FTI Poll เผยราคาพลังงานดันต้นทุนผลิตสูงขึ้น 10-20% อีก 3-6 เดือน

ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ FTI Poll หัวข้อ “สินค้าแพง ต้นทุนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?” พบ ราคาน้ำมันและพลังงานสูง ทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง ต้นทุนผลิตสูงขึ้น แนะรัฐช่วยพยุงราคาพลังงาน ลดมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 12 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ในหัวข้อ “สินค้าแพง ต้นทุนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านั้น มาจากราคาน้ำมันและพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง 10–20% และคาดการณ์ว่าแนวโน้มต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมใน 3–6 เดือนข้างหน้า จะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอีก 10–20%

ดังนั้นจึงเสนอขอให้ภาครัฐช่วยเหลือในการพยุงราคาพลังงาน ตรึงราคาค่าไฟฟ้า (FT) และลดค่าสาธารณูปโภคไฟฟ้าและน้ำประปา เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและประชาชน พร้อมทั้งแนะให้ผู้ประกอบการมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

โดยจากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 160 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 12 จำนวน 8 คำถาม ดังนี้
ส.อ.ท. เปิด FTI Poll เผยราคาพลังงานดันต้นทุนผลิตสูงขึ้น 10-20% อีก 3-6 เดือน

1. ปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า
อันดับแรก ราคาน้ำมันและพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น 87.5% รองลงมาปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น 61.9% ความผันผวนของค่าเงินบาท และนโยบายด้านการเงินการคลัง 53.1% และสุดท้าย การขาดแคลนวัตถุดิบจากผลกระทบของ Supply Chain Disruption 45.0% 

2. จากราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ อันดับแรก 10 - 20% คิดเป็น 55.6% ต่อมา 30 - 50% คิดเป็น 21.9% ต่ำกว่า 10% คิดเป็น15.6% และสุดท้าย มากกว่า 50% 4.4%

3. จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากข้อ 2 ส่งผลต่อผลประกอบการอย่างไร อันดับแรก รายได้ลดลง 10 - 20% คิดเป็น 44.4% รองลงมา รายได้ลดลง น้อยกว่า 10% คิดเป็น 26.3% รายได้ลดลง 30 - 50% 15.6% ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ 10.6% และสุดท้าย รายได้ลดลง 10 – 20% คิดเป็น 3.1%

4. ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร อันดับแรก พยุงราคาพลังงาน, ตรึงราคาค่าไฟฟ้า (FT) และลดค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า, น้ำประปา) 80.6% รองลงมา ให้ช่วยเรื่องมาตรการทางภาษี เช่น ลดหย่อนภาษี, งดการหักภาษี ณ ที่จ่าย, ขยายระยะผ่อนชำระภาษีเงินได้, เร่งคืนภาษี 67.5% ลดค่าธรรมเนียม/ขั้นตอนในการส่งออกสินค้า และเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ 56.9% และสุดท้าย สนับสนุนสินค้า Made in Thailand ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชน 46.3%
        
5. ภาคอุตสาหกรรมควรปรับตัวรับมือกับภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร อันดับแรก นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 75.6% รองลงมา การประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต 65.6% นำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN Manufacturing 60.0% และสุดท้าย ปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มทางเลือกของแหล่งวัตถุดิบ 58.1%
       
6. จากภาวะสินค้าแพง มาตรการใดจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภค อันดับแรก ลดค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า, น้ำประปา) และตรึงราคาพลังงาน 79.4% รองลงมา ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และขยายเวลายื่นภาษี 58.8% สนับสนุนเงินช่วยเหลือ ลดค่าครองชีพ เช่น โครงการคนละครึ่ง การจำหน่ายสินค้าธงฟ้า 55.6% และสุดท้าย พักชำระหนี้ หรือ ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย 51.9%

7. ภาคอุตสาหกรรมสามารถแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่กระทบกับราคาสินค้าได้นานเท่าไร ส่วนใหญ่ตอบว่า 3 - 4 เดือน คิดเป็น 41.9% รองลงมา 1 - 2 เดือน 36.3% จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าทันที 18.1% และสุดท้าย น้อยกว่า 1 เดือน 3.7%

8. คาดการณ์แนวโน้มต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมใน 3 – 6 เดือนข้างหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ส่วนใหญ่ตอบว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น 10–20% คิดเป็น 65.6% รองลงมา ต้นทุนเพิ่มขึ้น มากกว่า 30% คิดเป็น 17.5% ต้นทุนยังคงทรงตัว 16.3% และสุดท้าย ต้นทุนลดลง 10–20% คิดเป็น 0.6%