รู้จัก "Simpli Finance Lab" ตัวช่วยสแกน-จัดพอร์ตลงทุน DeFi

รู้จัก "Simpli Finance Lab" ตัวช่วยสแกน-จัดพอร์ตลงทุน DeFi

เมื่อกล่าวถึงโลกอนาคต เชื่อว่าคีย์เวิร์ดอย่าง "เทคโนโลยี" หรือ "โลกดิจิทัล" เป็นคีย์เวิร์ดต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง ในมุมของเทคโนโลยี

หลายปีที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินคำว่า "เอไอ" (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่มีความเฉลียวฉลาด สามารถเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้ อีกมุมหนึ่ง AI มีพละกำลังเหลือเฟือ สามารถประมวลมวลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสร้างประโยชน์ด้านต่างๆ ให้เราได้ด้วยเช่นกัน

ในการนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย" อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และ Co-founder และ Principal Researcher SIMPLI FINANCE LAB ผู้นำ AI มาเชื่อมต่อกับโลกการเงินยุคใหม่

โดย ดร.ชาญวิทย์ เท้าความว่า เดิมทำงานอยู่ในแวดวง AI มากว่า 5 ปี แต่เมื่อต้นปี 2564 ได้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจของวงการสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) รวมถึงการเข้ามาของระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi) ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวมีจุดแข็งตรงที่กระจายศูนย์ (Decentralize) แก้ไข ควบคุม หรือปลอมแปลงไม่ได้ อีกทั้งเริ่มมีคนเชื่อถือ และมีความแพร่หลายมากขึ้น สะท้อนจากการเข้ามาลงทุนของสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ หนุนการเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นธุรกรรมทางการเงิน อาทิ การปล่อยกู้ การโอนเงิน หรือแม้กระทั่งการทำประกันบนระบบ DeFi ซึ่งสามารถเลียนแบบบริการทางการเงินรูปแบบเดิมได้ทั้งหมด รวมถึงนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น การกู้เงินแบบไม่มีหลักทรัพย์

โดยโลกการเงินดิจิทัลมีจุดแข็งตรงที่เป็น "ระบบเปิด" สามารถต่อยอดได้ง่าย เช่น การรวบรวมข้อมูลดอกเบี้ยของแต่ละแพลตฟอร์ม DeFi ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน แตกต่างจากโลกการเงินรูปแบบเดิมที่ต้องขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ หรือมีกฎเกณฑ์ในการดำเนินการสูง โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก

จากโอกาสที่เปิดกว้างส่งผลให้ ดร.ชาญวิทย์ ผุดโปรเจค "Simpli Finance Lab" ขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงสำหรับใช้ลงทุน DeFi ด้วยเทคโนโลยี AI เปรียบเสมือนเครื่องมือการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน โดยนำข้อมูลเชิงลึก อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละแพลตฟอร์ม และค่าธรรมเนียม (GAS) ในการให้บริการ ฯลฯ มาใช้ในการประมวลผล

"หลายแพลตฟอร์มมีความน่าสนใจ อัตราดอกเบี้ยที่ได้จากการปล่อยกู้รายปี (APR) อยู่ในระดับที่ดี แต่ระหว่างทางมีความผันผวนของราคาอยู่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครเอาข้อมูลส่วนนี้มากางให้เห็น ส่งผลให้นักลงทุนไม่เห็นการขาดทุนหรือเสียโอกาสชั่วคราวที่อาจจะเกิดขึ้นกับเหรียญดิจิทัล (Impermanent Loss)"

โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกระดับผลตอบแทนที่ต้องการ (Expect Returm) และค่าความผันผวน (Volatility) ซึ่งระบบจะประมวลผล ทั้งความผันผวนของราคา Impermanent Loss ระดับผลตอบแทนขาดทุนสะสม (Maximum Drawdown) และผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งไม่ได้ดูเฉพาะค่า APR ของแพลตฟอร์ม DeFi เท่านั้น ก่อนจะแนะนำการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละแพลตฟอร์มต่อไป

ปัจจุบัน Simpli Finance ให้บริการข้อมูลการลงทุนแพลตฟอร์ม DeFi โดยประมวลผลจากแพลตฟอร์มที่วิ่งอยู่บน Binance Smart Chain เครือข่ายบล็อกเชนของ Binance ผู้ให้บริการกระดานเทรดขนาดใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ดี คาดว่าภายในปลายปี 2564 โปรเจค Simpli Finance จะสามารถให้บริการลงทุนได้ ภายหลังจับมือกับพันธมิตรต่างประเทศ รวมถึงมีแผนต่อยอดนำข้อมูลจากเชนอื่นๆ เข้ามาประมวลผลเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนทำได้ครอบคลุมได้มากที่สุด

ทั้งนี้ Simpli Finance ได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ในโครงการ SCB10X DeFi Launchpad Hackathon เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา