โควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนบุก-ปิดพรมแดนอาจสายเกินไป

โควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนบุก-ปิดพรมแดนอาจสายเกินไป

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่องค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)ตั้งชื่อให้อย่างเป็นทางการว่า"โอไมครอน" สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก ตลาดหุ้น ตลาดทุน ตลาดเงินดิ่งถ้วนหน้า หลายประเทศเริ่มปิดพรมแดนอีกครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าความพยายามนี้อาจเป็นเรื่องที่สายเกินไป

 ดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่าโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้มีแนวโน้มแพร่กระจายได้ไวกว่าโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และผู้ที่เคยป่วยแล้วมีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเอง ยังยอมรับว่า มาตรการจำกัดการเดินทางที่หลายประเทศนำมาใช้อาจเป็นเรื่องที่สายเกินไปที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโอไมครอนแพร่กระจายไปทั่วโลก และจนถึงขณะนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วทั้งแอฟริกาใต้, เบลเยียม, บอตสวานา, อิสราเอล และฮ่องกง

ตั้งแต่วันจันทร์หน้า (29 พ.ย.) สหรัฐจะเริ่มใช้มาตรการแบนผู้เดินทางส่วนใหญ่จาก 8 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่

  • แอฟริกาใต้
  • บอตสวานา
  • ซิมบับเว
  • นามิเบีย
  • เลโซโท
  • เอสวาตินี
  • โมซัมบิก
  • มาลาวี

โดยชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปประเทศเหล่านี้ในช่วง 14 วันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐ

ส่วนแคนาดา ประกาศปิดพรมแดนไม่รับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้เช่นกัน ตามหลังคำสั่งแบนเที่ยวบินที่ประกาศโดยอังกฤษ, และสหภาพยุโรป (อียู)

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางแล้วเช่นกัน ได้แก่ สิงคโปร์, อินเดีย, ญี่ปุ่น, อิสราเอล, ตุรกี, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

อย่างไรก็ตาม "ไมค์ ไรอัน" ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอ เตือนว่าทุกประเทศไม่ควรรีบร้อนแบนเที่ยวบินจากแอฟริกาเพื่อสกัดเชื้อโอไมครอน ขณะที่ ริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในแอฟริกาใต้ ก็ตำหนิมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกนำมาใช้ และย้ำว่าสิ่งสำคัญในตอนนี้คือการเร่งกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่ขาดแคลน

คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งอาจทำให้วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง

“โควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ถือว่าน่ากังวลมาก และเป็นเวอร์ชั่นที่มีการกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา” "ลอว์เรนซ์ ยัง" นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์วิคในอังกฤษ ให้ความเห็น

ส่วน"เบน โคว์ลิง" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง บอกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้อาจแพร่ระบาดเข้าไปยังหลายประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นการปิดพรมแดนจึงอาจสายเกินไป

การระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ สร้างความกังวลแก่ตลาดหุ้น ตลาดทุนทั่วโลก โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 905.04 จุด หรือ 2.53% ปิดที่ 34,899.34 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 2.27% ปิดที่ 4,594.62 จุดและดัชนีแนสแด็กร่วงลง 2.23% ปิดที่ 15,491.66 จุด

ส่วนตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันศุกร์ (26 พ.ย.) เช่นกัน โดยดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 464.05 จุด ร่วงลง 17.67 จุด หรือ -3.67% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,739.73 จุด ร่วงลง 336.14 จุด หรือ -4.75%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,257.04 จุด ร่วงลง 660.94 จุด หรือ -4.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,044.03 จุด ร่วงลง 266.34 จุด หรือ -3.64%

ดัชนี STOXX 600 ร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 และร่วงลง 4.5% ในรอบสัปดาห์นี้ ขณะที่ดัชนีความผันผวน พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 เดือน

ด้านสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนม.ค. ร่วงลง 10.24 ดอลลาร์ หรือ 13% ปิดที่ราคา 68.15 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลง 8.77 ดอลลาร์ หรือ 10.7% ปิดที่ราคา 73.45 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (26 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพากันขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.75% แตะที่ 96.0468 ในวันศุกร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.13 เยน จากระดับ 115.36 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9217 ฟรังก์ จากระดับ 0.9357 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2783 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2648 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1313 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1209 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.3335 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3321 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7118 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7185 ดอลลาร์สหรัฐ