"พรรคเล็ก" ค้านแก้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง เป็นเบอร์เดียว-หนุนสูตรคำนวณMMP

"พรรคเล็ก"  ค้านแก้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง เป็นเบอร์เดียว-หนุนสูตรคำนวณMMP

พรรคเล็ก ตั้งวงหารือ ทำข้อเสนอต่อ วิปรัฐบาล ค้านแก้ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ให้ใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศ พร้อมขอให้ยึดสูตรMMP คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ

        นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่  พร้อมด้วย นายคฑาเทพ  เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย และนายโกวิทย์ พวงงาม  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท แถลงข่าวภายหลังการหารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ใช้ในการเลือกตั้ง

 

        โดย นพ.ระวี แถลงว่ากลุ่มพรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง เห็นว่า การแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องยึดหลักคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ หรือ MMP และการคำนวนคะแนนบัญชีรายชื่อต้องไม่มีขั้นต่ำ เช่น หากมีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 350,000 -370,000 ต่อ ส.ส. 1 คน จะทำให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่านั้น เช่น 340,000 คะแนน เป็นคะแนนประชาชนที่ตกน้ำทั้งหมด 

        "พรรคเล็กยังเห็นพร้อมกันว่า ในการเลือกตั้งทุกพรรคสามารถส่ง ส.ส.เขตเพียงเขตเดียวทั้งประเทศ ก็จะสามารถส่งบัญชีรายชื่อได้ นอกจากนี้ หลักการ ส.ส.พึงมี เราเสนอให้เอาคะแนนรวมของบัตรเลือกตั้งที่ 2 หารด้วย 500 หรือเอาคะแนนรวมบัญชีรายชื่อ บวก คะแนนรวม ส.ส.เขตทั่วประเทศหารด้วย 500 ตัวเลขก็จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 คะแนน หรือ 140,000 คะแนนต่อส.ส.  1 คน" นพ.ระวี กล่าว

 

        นพ.ระวี กล่าวว่าสำหรับรายละเอียดแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเล็กเห็นว่า ไม่ควรใช้หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ และควรให้เป็นไปตามหมายเลขสมัครของแต่ละพื้นที่ ส่วนค่าสมัคร ส.ส. นั้นขอให้ลดลงเหลือ 3,000 - 5,000 บาท  นอกจากนั้นเห็นควรให้ยกเลิกตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขต , ยกเลิกการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารี่โหวต), ยกเลิกการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรค คนละ 100 บาท เพราะถือเป็นภาระของพรรคการเมืองที่ต้องชำระค่าสมัครให้ประชาชน  รวมทั้งควรยกเลิกทุกมาตราที่เกี่ยวกับการปรับพรรคการเมือง เพราะทำให้หัวหน้าพรรคเหมือนกับมีขาข้างหนึ่งก้าวอยู่ในคุก เพราะกฎ กติกา เล็กๆ น้อยๆ 

        นพ.ระวี กล่าวด้วยว่าผลหารือของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก นั้น นายโกวิทย์ ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะนำข้อเสนอแนะและความเห็นเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีประเด็นใดที่เหมือนกันกับร่างของรัฐบาลก็จะร่วมด้วย แต่ประเด็นใดที่เห็นต่างจะใช้เวทีสภาฯอีกครั้ง.