อีอีซีปิดจ๊อบหาพันธมิตร ลุยตอกเสาเข็ม 4 เมกะโปรเจค

อีอีซีปิดจ๊อบหาพันธมิตร ลุยตอกเสาเข็ม 4 เมกะโปรเจค

อีอีซีประกาศปิดจ๊อบหาพันธมิตรร่วมทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก หลังลงนามร่วม "จีพีซี" เป็นกลุ่มสุดท้ายคว้าท่าเรือแหลมฉบัง 3 โชว์เม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 6 แสนล้านบาท เดินหน้าตอกเสาเข็ม ทยอยเปิดบริการปี 2568

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่จากการต่อยอดพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปี หรือที่เรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด โดยโครงการอีอีซีมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป้าหมายเพื่อยกระดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า วันนี้ (25 พ.ย.) ถือเป็นการประกาศปิดจ๊อบขั้นตอนหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนา 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี เพราะวันนี้ถือว่าเป้าหมายในการร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้สำเร็จแล้ว ทั้ง 4 โครงการได้มีเอกชนร่วมลงทุน และพร้อมที่จะเริ่มพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามแผน

สำหรับ 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักที่เกิดขึ้นในอีอีซี ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือมาบตาพุด และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ก่อให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนรวมกว่า 654,921 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนของภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท และรัฐร่วมทุนอีก 238,841 ล้านบาท

ซึ่งโครงการเหล่านี้เอกชนได้เสนอให้ผลตอบแทนภาครัฐถึง 440,193 ล้านบาท และส่งผลให้รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ หลังหักจากการร่วมลงทุนไปแล้ว เป็นมูลค่า 201,352 ล้านบาท จึงยืนยันผ่านมูลค่าการลงทุนเหล่านี้ได้ว่า อีอีซีไม่ได้เป็นโครงการที่นำเงินลงทุนของภาครัฐมาพัฒนาในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการงบประมาณ แต่อีอีซีเป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมทุนของรัฐและเอกชน อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีและประเทศด้วย

“4 โครงสร้างพื้นฐาน อีอีซีมีการลงนามความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 ขณะนี้เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นตอนเตรียมเริ่มงานก่อสร้าง อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงปัจจุบันอีอีซีส่งมอบพื้นที่ไปแล้ว 98% ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา และเหลืออีก 2% จะมีการเร่งรัดส่งมอบในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งตอนนี้เอกชนก็เข้าพื้นที่ เคลียร์งานเพื่อเตรียมก่อสร้างแล้ว”

สำหรับไทม์ไลน์ของ 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี ประกอบด้วย

โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3

  • ลงนาม 1 ต.ค.2562

กำหนดส่งมอบพื้นที่ ออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) แบ่งเป็น

  • ช่วงที่ 1 ในปี 2564
  • ช่วงที่ 2 ในปี 2567
  • กำหนดเปิดให้บริการในปี 2569

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

  • ลงนาม 24 ต.ค. 2562
  • กำหนดส่งมอบพื้นที่ ออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ในปี 2565
  • กำหนดเปิดให้บริการในปี 2569

โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

  • ลงนาม 19 มิ.ย.2563
  • กำหนดส่งมอบพื้นที่ ออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ในปี 2565
  • กำหนดเปิดให้บริการในปี 2568

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

  • ลงนาม 25 พ.ย.2564

กำหนดส่งมอบพื้นที่ ออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) แบ่งเป็น

  • ช่วงที่ 1 ในปี 2566
  • ช่วงที่ 2 ในปี 2570

กำหนดเปิดให้บริการ

  • ช่วงที่ 1 ในปี 2568
  • ช่วงที่ 2 ในปี 2572

อีอีซีปิดจ๊อบหาพันธมิตร ลุยตอกเสาเข็ม 4 เมกะโปรเจค