กอนช. เฝ้าระวังภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น 28 พ.ย. – 1 ธ.ค.นี้ จับตาพื้นที่น้ำหลาก

กอนช. เฝ้าระวังภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น 28 พ.ย. – 1 ธ.ค.นี้ จับตาพื้นที่น้ำหลาก

กอนช. เร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมขัง พร้อมจับตาพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเฝ้าระวังอ่างฯน้ำมาก คาด 28 พ.ย.–1 ธ.ค. นี้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยศูนย์ ปภ.เขต 11 ประสาน ปภ.จังหวัด เตรียมส่งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังพลเข้าพื้นที่ทันที หากประเมินมีโอกาสเกิดภัยเกิน 60%

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา พบว่า บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

สถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่

  • เพชรบุรี
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • สุราษฎร์ธานี
  • ชุมพร
  • พัทลุง

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ได้เร่งแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยได้มีการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยขณะนี้สถานการณ์ที่ จ.พัทลุง คลี่คลายลงแล้ว

ทั้งนี้ สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าในวันที่ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค. 64 อิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมความกดอากาศต่ำ จะส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย

  • จ.ชุมพร อ.ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม พะโต๊ะ ประทิว และสวี
  • จ.สุราษฎร์ธานี อ.ท่าชนะ ไชยา สมุย เกาะพะงัน ดอนสัก และกาญจนดิษฐ์
  • จ.นครศรีธรรมราช อ.ชะอวด ทุ่งสง นบพิตำ และพิปูน

โดยเฉพาะระดับน้ำบริเวณคลองท่าดี อ.ลานสกา พื้นที่ใน จ.ตรัง และสตูล รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งอาจเกิดสถานการณ์น้ำหลากได้ และยังต้องติดตามเฝ้าระวังคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยที่จะมีกำลังแรงขึ้นเนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดระดับน้ำทะเลหนุนสูงได้ ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ย. 64

นอกจากนี้ จะมีการติดตามเฝ้าระวังน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่คาดว่าจะมีฝนตกหนัก รวมทั้งในพื้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่า 100% ของความจุด้วย พร้อมกันนี้ ศูนย์ ปภ.เขต 11 ได้ประสานความร่วมมือไปยังปภ.จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยหากประเมินสถานการณ์พบพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยมากกว่า 60%  จะมีการส่งเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมประสานหน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยทหาร ให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละจังหวัด โดยศูนย์ ปภ.เขต 11 จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลเครื่องจักร เครื่องมือ จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ฯลฯ และรายงานมายังศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้เพื่อจัดสรรสนับสนุนเสริมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าในพื้นที่ต่อไป

“ทั้งนี้ได้กำชับให้มีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้าและประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ แก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ตามที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้เน้นย้ำความสำคัญ โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังหน่วยงานในแต่ละจังหวัด ช่วยดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการแจ้งเตือนให้แก่เครือข่าย และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ รวมถึงได้เชิญประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ เครือข่ายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับและส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกันด้วย และในวันเสาร์ที่ 27 พ.ย. ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ครั้งที่ 2/2564 ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อหารือเกี่ยวกับการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำระหว่างศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเตรียมการรับมือฝนตกหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการหารือบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางและเขื่อนปัตตานี” นายชยันต์ กล่าว