เงินประกันรายได้ฯ 3 ปี ทะลุ 2.6. แสนล้าน จ่อรื้อโครงการ - ดันเข้างบฯประจำ

เงินประกันรายได้ฯ 3 ปี ทะลุ 2.6. แสนล้าน จ่อรื้อโครงการ - ดันเข้างบฯประจำ

รัฐบาลแบกภาระประกันราคาพืช 3 ปี 2.6 แสนล้านบาท นายกฯ ถกบอร์ดนโยบายการเงินการคลังภาครัฐ ขยับเพดานหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำจาก 30% เป็น 35% ก่อหนี้เพิ่มอีก 1.55 แสนล้าน “อาคม” เผย เสนอ ครม.สัปดาห์หน้า อนุมัติทันที งบประกันรายได้ชาวนา รวม “ยาง-ปาล์ม”

โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการตั้งแต่ปีแรกของรัฐบาลในปี 2562 ครอบคลุมพืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการจ่ายส่วนต่างของราคาประกันและราคาตลาด รวมแล้วมีการตั้งกรอบวงเงินประกันราคา 3 ปี รวม 261,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ไม่รวมโครงการคู่ขนาน เช่น การอุดหนุนค่าเก็บเกี่ยวผลผลิต

สำหรับพืชเกษตรที่ตั้งงบประมาณมากที่สุด คือ ข้าว 160,600 ล้านบาท รองลงมาเป็นยางพารา 46,789 ล้านบาท มันสำปะหลัง 26,271 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน 22,185 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,408 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ตั้งไว้ดังกล่าวมีพืชบางชนิดที่ใช้ไม่เต็มวงเงินเพราะราคาในบางปีสูงกว่าราคาประกัน เช่น ยางพารา

ใน ปีการผลิต 2564/65 มีการตั้งวงเงินประกันราคาข้าวสูงกว่าทุกปีที่ 89,000 ล้านบาท ในวงเงินนี้ไม่รวมโครงการคู่ขนาน ซึ่งเมื่อเริ่มจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 9 พ.ย.2564 เริ่มเห็นปัญหาการจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งนำมาสู่การแก้ปัญหา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ วานนี้ (24 พ.ย.)

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากนโยบายของรัฐบาลเรื่องการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 ซึ่ง ครม.ได้มีการอนุมัติวงเงินในการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานไปแล้วประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท (งวดแรก) ซึ่งยังมีวงเงินที่ต้องจ่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 

รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นๆได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วการใช้เงินจากเงินกู้เพื่อมาดำเนินการในโครงการนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดเพดานการก่อหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดว่าไม้ให้ภาครัฐมีภาระหนี้เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 

เงินประกันรายได้ฯ 3 ปี ทะลุ 2.6. แสนล้าน จ่อรื้อโครงการ - ดันเข้างบฯประจำ

เคาะขยายเพดานก่อหนี้

ดังนั้นที่ประชุมฯมีมติให้ขยายสัดส่วนเพดานการก่อหนี้ตามมาตรา 28 จากเดิม ที่ 30% เป็น 35% เป็นระยะเวลาชั่วคราว 1 ปี ทำให้มีวงเงินในการก่อหนี้เพิ่มเติมได้อีกประมาณ 1.55 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีกรอบการก่อหนี้ของภาครัฐประมาณ 9 แสนล้านบาท แต่เหลือวงเงินที่สามารถก่อหนี้ได้อีกเพียง 5,300 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่ได้มีการปิดโครงการหรือใช้หนี้ในโครงการต่างๆในส่วนนี้

“หลังจากการขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 จะทำให้รัฐบาลมีกรอบในการกู้เงินทั้งสิ้น 160,300 ล้านบาท จากการขยายกรอบเงินกู้ 5% 1.55 แสนล้านบาท และวงเงินคงเหลือก่อนขยายเพดานหนี้อีก 5,300 ล้านบาท นอกจากนี้ได้เตรียมแนวทางการขอใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน 2565 ในการสนับสนุนโครงการประกันรายได้บางส่วนด้วยหากมีความจำเป็น” 

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้การแก้ไขเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มีผลอย่างเป็นทางการ และในสัปดาห์หน้า คณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณา (ครม.) อนุมัติวงเงินในส่วนการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในส่วนที่เหลือ และคาดว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)แล้วจะได้เงินภายในเดือน ธ.ค.นี้แน่นอน 

เร่งจ่ายเงินให้เกษตรกร

นายกฯ มีความเป็นห่วงว่าการได้เงินของชาวนาจะขาดช่วงหรือชะลอพี่น้องเกษตรกรก็จะรออยู่ จึงเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถอนุมัติได้เพราะวงเงินตามมาตรา 28 เหลือแค่ประมาณ 5,300 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อมีการขยายสัดส่วนวงเงินแล้วการอนุมัติจะไม่ช้า และเกษตรกรจะได้เงินภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่ล่าช้า”นายอาคม กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ระบุถึงการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการนั้น ให้กระทําได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

สั่งปรับรูปแบบประกันราคาข้าว

นอกจากนั้นที่ประชุมฯยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในแนวทางการจัดทำโครงการประกันรายได้ในปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งแนวทางที่มีการพิจารณาเช่น การบรรจุโครงการไว้ในรายจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับการจัดสรรวงเงินมาชำระคืินในอนาคต 

รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งออกในตลาดที่มีความต้องการข้าวคุณภาพสูง และให้ราคาดี ส่วนโครงการต่างๆที่ยังอยู่ในรายการหนี้ตามมาตรา 28 ที่มีหนี้รวมกว่า 9 แสนล้านบาท 80% ของหนี้จำนวนนี้เป็นวงเงินที่รัฐบาลขอให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายในโครงการสินค้าเกษตรต่างๆตั้งแต่ในอดีตซึ่งต้องหาทางลดภาระส่วนนี้ลง และเร่งรัดการปิดบัญชีโครงการที่คงค้าง 

เพิ่มช่องว่างทางการคลัง

รวมทั้งขอจัดสรรวงเงินมาชำระหนี้ในส่วนนี้มากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรวงเงินมาใช้หนี้ประมาณ 7.6 หมื่นล้านเท่านั้น ซึ่งจะขอให้จัดสรรงบประมาณมาจ่ายหนี้ไม่น้อยกว่า 4% ของวงเงินคงค้าง

ทั้งนี้หากสามารถเคลียร์หนี้คงค้างส่วนนี้ได้ก็จะส่งผลดีต่อภาครัฐ และสามารถมีช่องว่างทางการคลังไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในส่วนต่างๆได้มากขึ้น เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การสร้างงานและอาชีพในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่การฟื้นตัว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า วงเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในส่วนที่รอการอนุมัติจาก ครม.แบ่งเป็นวงเงินในการประกันรายได้ 7.6 หมื่นล้านบาท และมาตรการคู่ขนานในการช่วยเหลือชาวนาอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อมีวงเงินจากการขยายเพดานที่ได้รับอนุมัติแล้วสามารถที่จะเสนอขออนุมัติโครงการได้เต็มจำนวนที่เหลือ 

นายกฯห่วงใยเกษตรกร

ต่อมาเมื่อเวลา 13.36 น.พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์ทางเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ว่ามีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรทุกคน ที่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการแพร่ระบาดโควิดและน้ำท่วม-น้ำแล้ง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหางบประมาณมาให้พี่น้องเกษตรกรในโครงการต่างๆ เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการข้าวเพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตข้าว โครงการประกันรายได้ยางพารา โครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ 

"วันนี้ผมขอแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรเงินให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้เพิ่มเติมอีก 155,000 ล้านบาท

โดยจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันอังคารหน้า (30 พ.ย.64) จากนั้น ก็จะมีการเบิกจ่ายผ่าน ธ.ก.ส.ถึงบัญชีพี่น้องเกษตรกร โดยตรง สำหรับรายละเอียดขอให้ติดตามข่าวสารจากทางภาครัฐอีกครั้ง" 

ชง ครม.อนุมัติงบจ่ายงวดที่ 2

รายงานข่าวระบุว่า ในฤดูการผลิต 2564/2565 รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อชดเชยชาวนาผู้ปลูกข้าวสูงมากเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ โดยคณะกรรมการนโยบายข้าว(นบข.)อนุมัติวงเงินชดเชยไว้ทั้งสิ้น 89,306 ล้านบาท โดยครม.อนุมัติให้จ่ายได้แล้ว 18,378 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำเข้าพิจารณาใน ครม.สัปดาห์หน้า 

รวมทั้ง ครม.ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ไว้ 6,811 ล้านบาท รวมทั้ง อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,863 ล้านบาท ส่วนอีก 2 โครงการ ที่เตรียมเข้า ครม.สัปดาห์หน้า แต่คงไม่ต้องใช้เงินชดเชยเนื่องจากผลผลิตปีนี้มีราคาสูงกว่าราคาประกัน แต่จะขออนุมัติวงเงินไว้ก่อน ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน วงเงิน 10,065 ล้านบาทและโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลุกปาล์มน้ำมัน 7,660 ล้านบาท ส่วนภาระที่รัฐบาลต้องรับชดเชยเพื่อตั้งงบประมาณในปีต่อไปมาชดใช้ ณ ปัจจุบัน มีวงเงิน 911,262 ล้านบาท