สกพอ. จับมือ ธนาคารไอซีบีซี เสริมแกร่งลงทุนจีน ผลักดัน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สกพอ. จับมือ ธนาคารไอซีบีซี เสริมแกร่งลงทุนจีน ผลักดัน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สกพอ. ลงนามเอ็มโอยูกับธนาคารซีไอบีซี เร่งเครื่องส่งเสริมการลงทุน เพิ่มโอกาสทางการเงิน จูงใจเอกชนร่วมลงทุนนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่อีอีซี เสริมแก่ง 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ สุขภาพและการแพทย์ ดิจิทัล เกี่ยวกับการลดคาร์บอน และโลจิสติกส์

วันที่ 24 พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) สร้างความร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีพร้อมผลักดันการลงทุนระหว่างนักลงทุนจากประเทศจีน และประเทศไทย โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการ อีอีซี และ นายเสี่ยวปอหลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนาม ณ ห้องประชุม Conference Room สำนักงานอีอีซี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน และสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ผ่านระบบประชุมออนไลน์ 

 

สกพอ. จับมือ ธนาคารไอซีบีซี เสริมแกร่งลงทุนจีน ผลักดัน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยความร่วมมือตาม MOU ระหว่าง สกพอ. และ ไอซีบีซี ในครั้งนี้ จะมีระยะเวลา 3 ปีที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือ และสนับสนุนกิจกรรมที่สำคัญๆ จากทั้งสองฝ่าย ได้แก่ 

1. สร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุน และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในพื้นที่อีอีซีผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสถานการณ์ตลาด นโยบายที่สำคัญจากภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพ การสนับสนุนให้คำปรึกษาและให้บริการทางด้านการเงินของธนาคารไอซีบีซี รวมถึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
 

2. ส่งเสริมการลงทุนและสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ในพื้นที่อีอีซีต่อยอดการลงทุนให้กับภาคเอกชนไทยผ่านการสนับสนุนของธนาคารไอซีบีซี อำนวยความสะดวกการให้คำปรึกษา และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนจีนและไทย เพื่อขยายโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง 

3. สร้างความร่วมมือและศึกษาการจัดตั้งและพัฒนากองทุนรวมตราสารทุน หรือ EEC Equity Fund เพื่อขยายผลและสร้างโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในโครงการที่เหมาะสมต่อไป     

นอกจากนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 4 แกนธุรกิจ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 3) Decarbonization ซึ่งครอบคลุมเรื่องยานยนต์สมัยใหม่หรือ EV ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Mobility และ 4) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Green and Circular Economy) ผลักดันให้อีอีซีก้าวสู่พื้นที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับธุรกิจที่จะมาลงทุนต่อเนื่อง

ซึ่งการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะเสริมประสิทธิภาพนักลงทุนเกิดความคล่องตัวด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพิ่มโอกาสการลงทุนเพื่อยกระดับการแข่งขัน สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

สกพอ. จับมือ ธนาคารไอซีบีซี เสริมแกร่งลงทุนจีน ผลักดัน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านนายเสี่ยวปอ หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารไอซีบีซี กับสกพอ. ในครั้งนี้  ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของธนาคารในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่เป็นความร่วมมือต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จากการที่ธนาคารไอซีบีซี ประเทศจีน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน โดยพร้อมจะทำหน้าที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน  ส่งเสริมนักลงทุนที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี

รวมไปถึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจากประเทศจีนที่มีความสนใจ ผ่านเครือข่ายของธนาคารไอซีบีซี ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีเครือข่ายสาขามากกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศจีนและเครือข่ายครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก ทั้งยังมีฐานลูกค้า Corporate ณ เดือนมิถุนายน 2564 มากกว่า 9.24 ล้านราย รวมทั้งธนาคารจะให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้พื้นที่อีอีซี

พร้อมกันนี้ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย หรือ RMB Clearing Bank in Thailand จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพในการให้บริการผลิตภัณฑ์และธุรกรรมเงินหยวนที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนชาวจีนได้อย่างครบถ้วน