“อู่ตะเภา” ลุยพื้นที่อุตฯการบิน ดึงเอกชนลงทุน 1.2 หมื่นล้าน

“อู่ตะเภา” ลุยพื้นที่อุตฯการบิน ดึงเอกชนลงทุน 1.2 หมื่นล้าน

สกพอ.ลุยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน ATZ 905 ไร่ 7 ธ.ค.นี้ จัดมาร์เก็ตซาวดิ้งดึงเอกชนลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ปั้นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มอบสัญญาเช่า 30 ปี ตั้งเป้าเริ่มขั้นตอนคัดเลือกปี 2565 หวังแล้วเสร็จซัพพอร์ตเมืองการบินในปี 2568

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) โดยระบุว่า สกพอ.วางแผนพัฒนาพื้นที่ 905 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน สนับสนุนท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน

โดยขณะนี้ สกพอ.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น International Market Sounding ในวันที่ 7 ธ.ค.2564 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของแผนพัฒนาโครงการดังกล่าว เชิญชวนนักลงทุนและสำรวจความต้องการ โดย สกพอ.มีเป้าหมายให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในลักษณะเช่าพื้นที่พัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน

“ตอนนี้เราเชิญนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมไปถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังข้อมูลรวมประมาณ 50-60 ราย โดยการจัดมาร์เก็ตซาวดิ้งครั้งแรกนี้จะเป็นการชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการและเชิญชวน หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือน เราจะจัดครั้งที่ 2 คัดเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการลงทุนในโครงการเข้าร่วมรับฟังรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม” นายโชคชัย กล่าว

แบ่งพัฒนาพื้นที่ 4 โซน

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ ATZ แบ่งออกเป็น 

1.พื้นที่สำหรับการก่อสร้างลานจอดอากาศยานที่รองรับกิจกรรมศูนย์ซ่อมอากาศยานและอำนวยการเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมการบินประมาณ 323 ไร่ อยู่ภายใต้คความรับผิดชอบของกองทัพเรือ 

2.กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Technical Zone : ATZ) ประมาณ 375 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้สำรองไว้สำหรับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 100 ไร่ กรณีที่การบินไทยดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)

3.พื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนการบิน (Aviation Support Equipment Center) ประมาณ 50 ไร่

4.พื้นที่พัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานและพื้นที่ส่วนกลาง 157 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนนี้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเบื้องต้นได้ส่งแผนพัฒนาโครงการมาแล้ว อยู่ระหว่างทบทวนวงเงินการลงทุน จากที่ประเมินไว้ราว 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ สกพอ.จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนของพื้นที่กลุ่ม 2 กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน และกลุ่ม 3 พื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนการบิน โดยประเมินมูลค่าที่เอกชนต้องลงทุนอยู่ที่ราว 12,000 ล้านบาท สกพอ.จะให้สัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปี จึงคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากการให้เช่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท 

อีกทั้งจะเพิ่มอัตราการจ้างงานประเภทแรงงานทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ นำไปสู่การยกระดับการศึกษาในอุตสาหกรรมการบิน

คัดเลือกเอกชนเข้าลงทุนปีหน้า

นายโชคชัย กล่าวว่า ขณะนี้ สกพอ.อยู่ระหว่างออกแบบจัดทำแผนแม่บทและวางผังภายในพื้นที่กิจกรรม ATZ คาดว่าหลังจากจัดทำมาร์เก็ตซาวดิ้งแล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้เช่าได้ภายในปี 2565 หลังจากนั้นเอกชนจะสามารถเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างโครงการทันทีในปี 2566 และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2568 พร้อมกับการเปิดให้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

“ผมมั่นใจว่าเอกชนจะสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการ ATZ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีเอกชนไทยแสดงความต้องการลงทุนแล้ว 2-3 ราย ประกอบกับไทยยังเป็นเดสติเนชั่นที่สายการบินมั่นใจ มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดการเดินทาง ธุรกิจการบินก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์กระทบจากปัจจัยภายนอก จะได้รับผลกระทบทันที แต่ก็สามารถฟื้นตัวเร็ว ซึ่งประเมินว่าการบินจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2567 ซึ่งศูนย์ซ่อมก็จะทันรองรับพอดี” นายโชคชัย กล่าว

อีกทั้งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในไทยยังถือว่ามีโอกาสสูง จากจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในไทยมีมากกว่า 150-200 ลำ และขณะนี้มีเพียงสายการบินไทยที่มีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยส่วนใหญ่ยังเป็นการซ่อมอากาศยานลำตัวกว้าง ขณะที่อากาศยานที่ให้บริการในไทยปัจจุบันมีสายการบินเลือกใช้อากาศยานลำตัวแคบค่อนข้างมาก ดังนั้นเป็นโอกาสหากนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนรองรับดีมานด์

“ยูทีเอ”ออกแบบเทอร์มินอล

นายโชคชัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ด้วยว่า ปัจจุบันบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ได้ส่งรายงานแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบและอนุมัติแล้ว โดยขณะนี้ UTA อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดอาคารผู้โดยสาร 

อีกทั้งยังหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ได้ข้อสรุปถึงการก่อสร้างรถไฟในพื้นที่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งทาง UTA จะลงทุนส่วนนี้ก่อน หลังจากนั้นบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะชดเชยค่าก่อสร้างภายหลัง

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สกพอ.ประเมินว่าจะสามารถออกเอกสารอนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้ในปลายไตรมาส 1 ของปี 2565 ถือเป็นการเริ่มนับสัญญาสัมปทาน 50 ปี แบ่งเป็น ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเริ่มบริหารกิจการ 47 ปี ส่วนกรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับทราบข้อมูลว่าทาง UTA ยืนยันไม่มีการเจรจาเรื่องเยียวยา อาจเพราะประเมินแล้วว่าโครงการจะเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งการเดินทางเริ่มฟื้นตัว

“ผมมั่นใจในเอกชนกลุ่มนี้ เพราะ UTA มีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สให้บริการธุรกิจการบินอยู่แล้ว บีทีเอสก็มีความแข็งแกร่งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และซิโนไทยก็มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานก่อสร้าง มั่นใจว่าโครงการนี้จะเปิดให้บริการเป็นไปตามแผนในปี 2568” นายโชคชัย กล่าว