“อาคม” ชี้ผลพวง "เปิดประเทศ" ดันจีดีพีปีนี้โต 1.2%

“อาคม” ชี้ผลพวง "เปิดประเทศ" ดันจีดีพีปีนี้โต 1.2%

“อาคม” มั่นใจจีดีพีปี2564 จะสามารถขยายตัวได้ 1.2% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 1% เป็นผลพวงจากการที่รัฐบาล "เปิดประเทศ" ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสี่ฟื้นตัวขึ้น ส่วนปี 65 คาดขยายตัวได้สูงถึง 4.5% ย้ำนโยบายหนุนการฟื้นตัวทุกภาคส่วน ขณะที่ ห่วงปัญหาการขาดดุลแฝด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวบรรยายเรื่อง "ประเทศไทยกับการฟื้นตัวหลังโควิด-19" ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 39 โดยเขาประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 1.1-1.2% มากกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 1% หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ 1.3%

"ในปี 64 นั้น ตัวที่จะกระตุ้นให้จีดีพีขยายตัวจะมาจากดีมานด์ในประเทศ ซึ่งก็คือ การท่องเที่ยวในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ช่วยรักษาระดับการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการระบาดโควิดระลอกใหม่ก็ยังน่าเป็นห่วง รวมถึง ความเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เราเชื่อว่า ทั้งปีเราจะปิดบัญชีการเติบโตเศรษฐกิจได้ที่ 1.1-1.2%"

ส่วน เศรษฐกิจไทย ปี 2565 นั้น คาดการณ์ว่า จะสามารถขยายตัวได้ 3.5-4.5%

โดยการฟื้นตัวจะมาจาก 7 ปัจจัยหลัก คือ

1.การดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19

2.การหนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นตัว

3.แรงกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน

4.ภาคการส่งออก

5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

6.การใช้จ่ายรัฐบาล

7.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 นั้น เราจะเน้นให้มีการเติบโตอย่างทั่วถึง หรือ Inclusive Growth ซึ่งจะต้องไม่กระจุกตัวในด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเราสามารถทำให้การเติบโตตั้งแต่เศรษฐกิจระดับฐานรากได้ จะเป็นแรงกระแทกได้ดีเมื่อเศรษฐกิจเกิดผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลโควิด-19 ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจ และหนุนให้เศรษฐกิจชุมชนเชื่อมโยงกับ Big supply chain นอกจากนี้ จะต้องดูแลปัญหา twin deficits หรือ การขาดดุลแฝด ทั้งขาดดุลการคลังและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ เราควรส่งเสริมให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย

เขากล่าวด้วยว่า การบริหารเศรษฐกิจมหภาคนั้น นโยบายการคลังมีส่วนในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินก็จะมีส่วนในการสนับสนุน ซึ่งในวิกฤตครั้งนี้ นโยบายการเงินก็ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

แม้ว่า ขณะนี้ แรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งจากการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อระดับเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะไปด้วยกัน

เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งคิดเป็น 14.6%ของจีดีพี และใช้นโยบายกึ่งการคลังไปประมาณ 4.2%ของจีดีพี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆถือว่า ใกล้เคียง ยกเว้น สหรัฐอเมริกาที่ใช้มากถึง 25% ของจีดีพี 

แต่คำถาม คือ เมื่อเราใช้นโยบายดังกล่าวแล้วจะมีผลต่อฐานะการคลังอย่างไร คำตอบ คือ มีผลให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดย ณ เดือน ก.ย.2654 ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี และประเมินว่า ณ สิ้นเดือนก.ย.2565  ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี ซึ่งจะเป็นจากการใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน แต่ถือว่า ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่เราได้ขยายไว้ที่ 70% ต่อจีดีพี

การขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ที่ 70% ต่อจีดีพีนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะกู้เงินเต็มเพดาน แต่ถามว่า เพดานดังกล่าวอันตรายไหม ก็ต้องตอบว่า ถ้าดูระดับการชำระหนี้ เราไม่มีปัญหา

“การขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ที่ 70%ต่อจีดีพีนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะกู้เงินเต็มเพดาน แต่ถามว่า เพดานดังกล่าวอันตรายไหม ก็ต้องตอบว่า ถ้าดูระดับการชำระหนี้เราไม่มีปัญหา ซึ่งทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆได้ให้ความเชื่อมั่นหรือเรตติ้งเหมือนเดิมที่น่าเชื่อถือ และมองว่ามีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ฐานะการคลัง ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 ก็อยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาท ก็ถือว่า อยู่ในระดับที่เพียงพอ หากเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ 4% การจัดเก็บรายได้ก็จะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็คงไม่จบแค่นี้ เพราะเรามีแผนที่จะเพิ่มขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ดีขึ้น และ ยังมีเงินนำส่งรัฐวิสาหกิจ รวมถึง รายได้ที่ได้จากค่าเช่าที่ราชพัสดุ

“ในเรื่องของรายได้นั้น ขณะนี้ เราสามารถจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสได้ และ ในอนาคต เราจะมีรายได้จากข้อตกลงของกลุ่มประเทศ G8 ที่กลุ่มธุรกิจดิจิทัลจะต้องแบ่งบันผลกำไรและภาษีที่ได้จากการทำธุรกิจให้กับประเทศที่บริษัทเหล่านั้นเข้าไปทำธุรกิจ”