TU ปักหมุดสปินออฟ "ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น" เข้าตลาดหุ้นครึ่งหลังปี 65

TU ปักหมุดสปินออฟ "ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น" เข้าตลาดหุ้นครึ่งหลังปี 65

"ไทยยูเนี่ยน" ตั้งเป้านำ "ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น" ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครึ่งหลังปี 65 พร้อมประเมินธุรกิจปีหน้ารายได้เติบโต 3-5% อัตราการทำกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นางสาวเกวลี ทองสมอางค์ หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมนำบริษัทลูก บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Spin-off) เพื่อสนับสนุนการเติบโต และสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 4 ปี 2564 บริษัทฯ ยังมีมุมมองเชิงบวก และคาดว่ารายได้ในปี 2564 จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 3-5% จากปัจจัยหนุนธุรกิจอาหารแช่แข็งที่ยังเติบโตได้ดี ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่กลับมาฟื้นตัวหลังปิดโรงงานในไตรมาส 3 ปี 2564

ขณะที่ในปี 2565 คงเป้าหมายเติบโต 3-5% แต่เชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรจะเพิ่มขึ้น จากอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น โดยยังคงมุมมองเชิงบวกจากธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารแช่แข็ง และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอัตรากำไร

ส่วนธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (Ambient Seafood) เป็นธุรกิจที่มีความทนทาน (Resilience) สามารถควบคุมอัตราการทำกำไรได้ดีแม้มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเข้ามากระทบ รวมถึงได้ปัจจัยหนุนจากการลงทุน อาทิ การเข้าถือหุ้น บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) 10% เป็นต้น และรายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ได้เริ่มดำเนินการในปี 2564

สำหรับการลงทุนใน RBF จะส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำไรจากส่วนแบ่งการลงทุน 10% ขณะที่ในระยะข้างหน้าทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างหารือถึงแผนธุรกิจ โดยคาดว่าจะขยายตลาดธุรกิจอาหารแช่แข็ง ธุรกิจโปรตีน และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงร่วมกันในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ บริษัทยังคาดหวังการฟื้นตัวจากเชนร้านอาหาร "Red Lobster" ในสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ TU ถือหุ้น 49% จากเดิมถูกผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อรายได้ในปี 2563 โดยไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมา Red Lobster เริ่มกลับมาทำกำไรแล้ว แต่ถูกผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีกดดันกำไรในไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา

นางสาวเกวลี กล่าวว่า TU ตั้งเป้าหมายเชื่อมโยงความยั่งยืนกับการเงินของบริษัท โดยออกและเสนอขายสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) มูลค่า 6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าสัดส่วนต้นทุนการเงินเพื่อความยั่งยืน (Blue Finance) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 50% จากต้นทุนการเงินทั้งหมด และเป้าหมายที่ 75% ภายในปี 2568

สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ยั่งยืนในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ เตรียมความพร้อมเพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้และสินเชื่อที่ครบอายุกำหนดราว 1.2 หมื่นล้านบาทในเดือน ม.ค.2565 รวมถึงเพื่อใช้เป็นงบลงทุนในระยะถัดไป