ประกันเสียงแตก คปภ.สั่งห้ามบอกเลิกประกัน “เจอจ่ายจบ”

ประกันเสียงแตก คปภ.สั่งห้ามบอกเลิกประกัน “เจอจ่ายจบ”

สมาคมประกันวินาศภัย คาดสิ้นปีนี้ยอดเคลมประกันโควิดแตะ4 หมื่นล้าน หวั่นกระทบเชิงระบบ-กองทุนประกันเอาไม่อยู่ ล่าสุด บริษัทรับประกันโควิดเจอจ่ายจบ ลั่นไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง คปภ. ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ มีผลย้อนหลังทุกฉบับ ชี้ควรมีผลเฉพาะกรมธรรม์ที่ออกขายใหม่

นายอานนท์ วังวสุ นายก สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยโควิดมีเบี้ยประกันภัยสูงกว่าในปีก่อนหน้าโดยมีผู้ซื้อกรมธรรม์จำนวน 14,000,000 กรมธรรม์เป็นการซื้อในช่วงไตรมาสแรกเพียง 1,800,000 กรมธรรม์และเป็นการซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนจำนวน 13,000,000 กรมธรรม์

สำหรับอัตราการเคลมสินไหมล่าสุดของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด  ณ  15พ.ย.2564 อยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาทและน่าจะถึง 40,000 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีนี้ โดยอัตราการเคลมข้างต้นทำประเมินแล้วจะคิดเป็น26.5% ของภาพรวมเงินกองทุนสำรองทั้งระบบประกันวินาศภัยและจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น30%ในช่วงสิ้นปี ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้น อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก และอาจเพิ่มสูงถึง 60%-70% ของเงิน โดยมี16บริษัทที่มีการแบบประกัน เจอ จ่าย จบ ขณะที่บริษัทประกันภัยที่ไม่ได้ขายแบบประกันนี่ยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งอยู่

 

“ถ้าดูจากสถิติคิดว่าอัตราการเคลมสูงพอที่จะมีผลกระทบเชิงระบบแล้วซึ่งตามหลักวิชาการทั่วโลกสิทธิ์การบอกเลิกประกันภัยถือว่าเป็นสิ่งที่สามารกระทำกันตามหลัก ซึ่งหลักเกณฑ์คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย  ที่ออกมาควรมีผลบังคับใช้กับกรมธรรม์ใหม่ที่จะออกขายมากกว่ามีผลบังคับใช้ย้อนหลัง เพราะจะสร้างความสับสนและข้อขัดแย้งขึ้นได้ยิ่งถ้ามีการประกันภัยต่อเงื่อนจะไม่ตรงกัน”

ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ได้ให้อำนาจนายทะเบียนในการสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบหรือข้อความที่ได้เคยอนุมัติไปแล้วได้ และในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายทะเบียนได้ใช้อำนาจในการสั่งยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ได้ระบุ “ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนและกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่มีคำสั่งนี้และยังคงมีผลใช้บังคับ”

 ในความเห็นของสำนักงาน คปภ. นั้น คำสั่งนี้มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ที่ได้ออกไปแล้วก่อนหน้าวันที่มีคำสั่งประกาศใช้ ในขณะที่ความเห็นจากกลุ่มบริษัทที่รับประกันภัยโควิดนั้น มีความเห็นแตกต่าง ดังนี้

1) คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกใหม่หลังวันที่ออกคำสั่ง เช่นที่เคยปฏิบัติมา

2) ตามหลักกฎหมายทั่วไป (รัฐธรรมนูญ หลักกฎหมายปกครอง และหลักกฎหมายอาญา) กฎหมายย่อมไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ยกเว้นกฎหมายที่เป็นคุณกับผู้ถูกบังคับ

3) เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีความสัมพันธ์กับนโยบายการรับประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย เมื่อมีคำสั่งแก้ไขเฉพาะเงื่อนไข ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับประกันภัย เพราะเมื่อมีการปรับเงื่อนไข จะทำให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไป ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิเลือกว่าจะรับประกันภัยต่อไปหรือไม่ และด้วยอัตราเบี้ยประกันภัยเท่าใด

4) มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้รับประกันภัยต่อ เพราะเงื่อนไขที่นายทะเบียนสั่งแก้ไขอาจไม่ตรงกับสัญญาประกันภัยต่อ และจะทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อ

สิ่งที่กังวล คือต่อจากนี้เพราะอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเมื่อดูจากตัวเลขสถิติกลับพบว่าประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงก็มีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นด้วยเช่นกันทำให้กังวลว่าจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก โดยขณะนี้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว และถ้ารวมภาระจากเอเชียประกันภัยแล้วเงินกองทุนที่มีน่าจะไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันกองทุนฯมีเงินอยู่ประมาณ5,700ล้านบาท มีภาระหนี้เดิมประมาณ2,000ล้านบาทถ้ารวมกับเอเชียประกันภัยอีก4,500ล้านก็น่าจะเกินลิมิตไปแล้วตรงนี้ทาง คปภ.คงจะต้องหาทางเติมเงินกองทุนเข้ามาอีกเพื่อให้เพียงพอต่อภาระที่จะเกิดขึ้น

อานนท์ บอกด้วยว่าการขอความคุ้มครองจากศาลปกครองเป็นเรื่องรายบริษัททางสมาคมไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และไม่สามารถเป็นตัวแทนในการยื่นขอความคุ้มครองได้