"รัฐสภา" ประกาศจุดยืนคนละฝั่ง พร้อมแสดงเหตุผล "รับ-ไม่รับ" "ร่างรธน.ปชช."

"รัฐสภา" ประกาศจุดยืนคนละฝั่ง พร้อมแสดงเหตุผล "รับ-ไม่รับ" "ร่างรธน.ปชช."

ส.ว. ย้ำชัดหนุนมียุทธศาสตร์ ค้านตั้งผู้ตรวจศาล,องค์กรอิสระ,กองทัพ "สมชาย" ถามคนร่างมีปัญหาอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญ ด้าน "พริษฐ์" ย้ำต้องโละส.ว. รอไม่ได้

          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดยประชาชน 1.35 แสนรายชื่อ ในขั้นรับหลักการว่า ในช่วงหัวค่ำจนถึงกลางดึก สมาชิกรัฐสภาแต่ละฝั่งที่ประกาศเจตจำนงต่อการลงมติ ต่างอภิปรายยกเหตุผลสนับสนุนเจตจำนงของฝ่ายตัวเอง โดยกลุ่มส.ว. ย้ำถึงการไม่สามารถลงมติรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ เพราะทำลายหลักการทางการเมืองที่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงยังสนับสนุนให้คงยุทธศาสตร์ชาติต่อไป เพราะเป็นแผนพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศที่กำลังพัฒนา  

 

          โดยนายสมชาย แสวงการ  ส.ว. อภิปรายว่าไม่สามารถรับหลักการได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีให้มีสภาเดียว และตัดส.ว.ออกไป  เพราะส.ว. ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ดั่งใจ โดยมีคนที่ต้องการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่พูดบนถนน หากตัดส.ว.ออก จะเหลือสภาผู้แทนราษฎร และทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา  

 

 

          "กรณีตั้งคณะผู้ตรวจการศาล ผู้ตรวจการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการศาลอื่นๆ มีอำนาจถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลต่างๆออกจากตำแหน่งได้ อยากถามว่า ท่านมีอะไรกับศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่การยุบศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สิ่งที่ท่านเสนอมายังไกลเกินความจริง ไม่ได้บอกความจริงกับประชาชนทั้งหมด และเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เสียดายที่ร่างฉบับนี้ตนไม่สามารถเห็นชอบได้ เพราะทำมาไม่ถูกต้อง” นายสมชาย กล่าว

          ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน ยืนยันที่จะรับหลักการของเนื้อหา กรณีที่ระบบเลือกตั้งของเนื้อหาดังกล่าวแย้งกับสิ่งที่รัฐสภาแก้ไข และลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งที่รอการประกาศใช้ สามารถนำไปแก้ไขในเนื้อหาสาระในชั้นกรรมาธิการได้

 

          และเมื่อเวลา 21.25 น. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น ฐานะผู้เสนอร่างฯ ชี้แจงต่อการยุบวุฒิสภา เหลือสภาเดียว โดยยืนยันว่าเนื้อหาเพื่อสร้างดุลยภาพ เมื่อไม่มีส.ว. กลไกตรวจสอบฝ่ายบริหารคือ ประชาชน  สำหรับการเปลี่ยนกลไกส.ว.ให้มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ชัดเจนว่าคสช. มีเจตนาเป็นผู้เล่นการเมืองไม่ใช่เป็นกรรมการ ทั้งนี้มีข้อกังวลของสมาชิกรัฐสภา ที่ระบุว่าให้แยกส.ว. ที่มาจากบทเฉพาะกาล และตัวบทหลักโดยควรให้รอ ตนยืนยันว่ารอไม่ได้ 

 

\"รัฐสภา\" ประกาศจุดยืนคนละฝั่ง พร้อมแสดงเหตุผล \"รับ-ไม่รับ\" \"ร่างรธน.ปชช.\"

          “ไม่ต้องกังวลว่ามีสภาเดียวแล้วจะมีปัญหามีความโกลาหล ผมบอว่านี่คือวัคซีนเข็มแรก และมีวัคซีนเข็มที่สองคือการ ตั้งส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน หากสภาเดียวไม่มีประสิทธิภาพและสร้างปัญหาส.ส.ร. สามารถออกแบบส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งได้ สำหรับการยกเลิกส.ว.มีคนมองว่าสุดโต่งและขอให้ประนีประนอม ผมมองว่าไม่ใช่ข้อเสนอแบบสุดโต่ง เพราะหลายประเทศใช้ และผมพยายามตีความคำพูดว่า ปรับให้ส.ว.มาจากเลือกตั้งหรือตัดอำนาจเลือกนายกฯ ผมตรวจสอบการลงมติแก้รัฐธรรมนูญรอบที่ผ่านมา พบว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว นี่คือความย้อนแย้ง แม้จะให้ผมกลับไปแก้ไขเนื้อหา ใช่ว่าพวกท่านจะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายพริษฐ์ ชี้แจง

 

          นายพริษฐ์ ชี้แจงด้วยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคือความพยายามสร้างระบบที่ดี เพราะไม่สามารถทำให้คนดีทั้งหมดได้ อย่างไรก็ดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือความหวังของประชาชน ร่วมสร้างอนาคตที่ดีบนแผ่นดินนี้ ทั้งนี้ประเทศไทยมีบทเรียนกับความล่าช้าในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ขอรัฐสภาอย่าปฏิเสธวัคซีนที่พวกตนต้องการเสนอเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งประเทศ เพียงเพราะรักษาประโยชน์ให้คนไม่กี่คน.