‘สศช.’ กางแผนใช้เงินกู้คงเหลือ 2.2. แสนล้านบาท เน้นฟื้นฟู - ลดเยียวยา

‘สศช.’ กางแผนใช้เงินกู้คงเหลือ 2.2. แสนล้านบาท เน้นฟื้นฟู - ลดเยียวยา

สศช.เผยแนวทางจัดสรรเงินกู้ที่เหลือ 2.26 แสนล้านบาท ลดเยียวยา เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท หลังโควิดคลี่คลาย พร้อมโยกใช้ป้องกันการระบาดมากขึ้น เปิดช่องอนุมัติเพิ่มซื้อยารักษาโควิด-19

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.ถึง 2 ฉบับ เพื่อกู้เงินมาใช้สำหรับการควบคุมโรค การเยียวยาและการฟื้นฟูประเทศ รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท และแม้จะมีการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 แต่ประเทศไทยยังต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ต่อไป

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ เปิดเผยว่า วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินโควิด-19 พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ 2.26 แสนล้านบาท 

สำหรับแนวทางหลังจากนี้จะเป็นการพิจารณาอนุมัติการใช้เงินตามสถานการณ์ โดยวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีกรอบวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ตามแผนงานโครงการกลุ่มที่ 3 ยังคงวงเงินส่วนนี้ไว้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

ขณะที่เงินสำหรับการเยียวยาจะมีความจำเป็นลดน้อยลงตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง และการเยียวยาที่ได้มีการใช้เม็ดเงินไปก่อนหน้านี้แล้วในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ 

‘สศช.’ กางแผนใช้เงินกู้คงเหลือ 2.2. แสนล้านบาท เน้นฟื้นฟู - ลดเยียวยา

ทั้งนี้ วงเงินตามแผนงานโครงการกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ในเรื่องวงเงินสาธารณสุข และการเยียวยาที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ในแผนงานโครงการอื่นได้ตามความเหมาะสม ซึ่งในอนาคตหากแผนงานสาธารณสุขต้องการใช้เงินเพื่อซื้อยารักษาโควิด-19 เพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้รักษาผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงและผู้สูงอายุจะจัดสรรเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมเป็นระยะ

นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ภาคใต้ฝั่งอันดามันที่ จ.กระบี่ วันที่ 16 พ.ย.2564 ได้ปรับกรอบวงเงินกู้ตามแผนโครงการที่ 1 และ 2 ซึ่งเดิมแผนงานโครงการที่ 1 เรื่องสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลประชาชนวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลที่มีวงเงินที่ต้องอนุมัติย้อนหลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาลประชาชนช่วยโควิด-19 

ส่วนการปรับวงเงินในแผนงานโครงการที่ 2 การเยียวยาประชาชนจากเดิม วงเงิน 3 แสนล้านบาท เป็นวงเงิน 2.8 แสนล้านบาท ลดลง 2 หมื่นล้านบาท

อนุมัติค่ารักษาเพิ่ม 2 หมื่นล้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.สัญจร จ.กระบี่ ว่า ครม.อนุมัติวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินกู้เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งชาติ (สปสช.) ในโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 รอบที่ 5 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาลรัฐและเอกชนรวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุข อาทิ ค่าบริการตรวจคัดกรอง ค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการฉีดวัคซีน และค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการรับวัคซีนโควิด 19 (Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia : VITT)

นอกจากนี้ วงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่คงเหลือในภาพรวมแต่ละแผนงานโครงการเมื่อ ครม.อนุมัติให้ปรับเปลี่ยน และจ่ายเงินกู้ให้ สปสช.แล้วมีรายละเอียดได้แก่ 

1.แผนงานโครงการที่ 1 การแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ คงเหลือ 8.4 พันล้านบาท 

2.แผนงานโครงการที่ 2  แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งวงเงิน 2.8 แสนล้านบาท คงเหลือ 1.3 แสนล้านบาท 

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมคงเหลือ 8.74 หมื่นล้านบาท

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์