การบินไทยเร่งคำตอบ "คลัง" แปลงหนี้เป็นทุน - ขายหุ้นเพิ่มทุน

การบินไทยเร่งคำตอบ "คลัง" แปลงหนี้เป็นทุน - ขายหุ้นเพิ่มทุน

“การบินไทย” ขีดเส้นรอคำตอบ “คลัง” ด่วนสุดใน พ.ย.นี้ เคาะแนวทางแปลงหนี้เป็นทุน-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน หวังดันสัดส่วนรัฐบาลสูงกว่า 8% เดินหน้าแก้แผนฟื้นฟู ชงเจ้าหนี้-ศาลล้มละลายพิจารณา

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาครัฐบาลมีความชัดเจนแล้วว่า จะไม่ปล่อยกู้ให้การบินไทย 2.5 หมื่นล้านบาท ตามแผนฟื้นฟู โดยขณะนี้การบินไทยไม่ได้ขอให้รัฐบาลปล่อยกู้หรือสนับสนุนเงินทุนด้านใด เพียงแต่รายงานให้ทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู และความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขแผนฟื้นฟู อีกทั้งได้ชี้แจงในกรณีรัฐบาลไม่ดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน หรือซื้อหุ้นเพิ่มทุน จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยลดจาก 48% เหลือ 8%

“หากกระทรวงการคลัง ต้องการคงสัดส่วนการถือหุ้นไว้ต้องเติมเงิน เพื่อให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วนหุ้น 48% จะยังคงอยู่ หากใส่เพิ่มเข้ามาเท่ากับที่เอกชนปล่อยกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท และหากรวมกองทุน และธนาคารออมสิน รัฐบาลจะมีสัดส่วนถือหุ้นรวม 67% ในทางตรงกันข้ามหากคลังไม่ได้ใส่เงินเข้ามาจะไม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังลดเหลือ 8%”

ทั้งนี้ การบินไทยได้แนะนำถึงทางเลือกที่รัฐบาลดำเนินการได้ เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นการบินไทยไว้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยการบินไทยคาดหวังว่าจะได้คำตอบจากทางภาครัฐถึงแนวทางที่จะดำเนินการหลังจากนี้อย่างเร็วที่สุดน่าจะภายใน พ.ย.นี้ เพื่อให้การบินไทยกำหนดทิศทาง การดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูได้ เพราะต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูและนำเสนอเจ้าหนี้ รวมทั้งศาลล้มละลายกลางพิจารณา

ทั้งนี้ การหาแหล่งเงินทุนใหม่ที่เดิมระบุ ในแผนฟื้นฟูเป็นเงินทุนจากรัฐบาล 2.5 หมื่นล้านบาท และเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลมีความชัดเจนที่จะไม่ใส่เงินทุนวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นแผนฟื้นฟูการบินไทยต้องแก้ไข โดยต้องเริ่มที่จัดประชุมเจ้าหนี้ นำเสนอขอความเห็นชอบแผนฟื้นฟู และเสนอศาลล้มละลายกลาง เบื้องต้นการบินไทยมั่นใจว่าการแก้ไขแผนฟื้นฟูจะได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ เพราะสถานการณ์ธุรกิจขณะนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าการบินไทยกู้เงินเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท ก็เพียงพอ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา การบินไทยไม่ได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องแฮร์คัต หรืออนุมัติแผนฟื้นฟู แต่ขอให้รัฐบาล ขอให้หน่วยงานภาครัฐบาลที่ยังมีหนี้คงค้างกับการบินไทยทั้งค่าซ่อมกว่า 3 พันล้านบาท หนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญราว 2.2 ล้านบาท และหนี้อื่นๆ รวม 5.2 พันล้านบาท ให้ดำเนินการใช้หนี้แก่การบินไทย

ส่วนกรณีหากสัดส่วนรัฐบาลถือหุ้นการบินไทยน้อยลง และการบินไทยจะยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติหรือไม่ เรื่องนี้หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เป็นสายการบินแห่งชาติ ก็ยังคงเป็นต่อไป ไม่ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลจะเหลือเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันบางสายการบิน อาทิ บริติช แอร์เวย์ รัฐบาลก็ถือหุ้นน้อยมาก แต่ยังมีสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ อีกทั้งการบินไทยจะเป็นสายการบินแห่งชาติหรือไม่ ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อสิทธิการบิน เพราะเรื่องสิทธิการบินในเส้นทางต่างๆ เป็นในนามสายการบินไทย

สำหรับความคืบหน้าของการกู้เงินจากสถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เดิมนั้น ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของแผนธุรกิจเพื่อนำไปสนับสนุนการพิจารณากู้เงิน โดยคาดว่าขั้นตอนการกู้เงินส่วนนี้เสร็จในปีนี้ และจะได้รับเงินทุนก้อนใหม่จากภาคเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 1 ปีหน้า

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้เงินกู้จากทางภาคเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟู เนื่องจากสถานการณ์ด้านการบินในขณะนี้เริ่มดีขึ้น ผลประกอบการ การบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่าย และมีแผนหารายได้อย่างชัดเจน แต่เงินทุนในส่วนของภาครัฐบาล 2.5 หมื่นล้านบาท หากได้มาจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบอยู่นั้นกลับมาเป็นบวก แต่ในกรณีที่ไม่ได้เงินก้อนนี้ การบินไทยก็มั่นใจว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์