"วิษณุ" แจงคดี "บอส อยู่วิทยา" ไม่เงียบ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน

"วิษณุ" แจงคดี "บอส อยู่วิทยา" ไม่เงียบ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน

ส.ส.ก้าวไกล จี้ถามรัฐบาล ความคืบหน้าคดี วรยุทธ อยู่วิทยา พร้อมตั้งข้อสังเกต มีนักการเมืองช่วยเหลือคดี ด้าน "วิษณุ" แจงอยู่ระหว่างทำงาน

        ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามทั่วไป ของนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องขอให้ติดตามความคืบหน้าและดำเนินการกับผู้กระทำความผิดคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส   โดยนายกฯได้มอบหมายในนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้ชี้แจงแทน


        โดยนายธีรัจชัย ตั้งคำถามถึงการปฏิบัติของรัฐบาลและความคืบหน้า ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้คดีดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่า  มีผู้ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ช่วยเหลือนายวรยุทธ และแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ คือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่เป็นน้องชายของพล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รองนายกฯ น้องเขยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และอดีตผู้บังคับบัญชาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)  รวมถึงมีคำสั่งโยกย้ายตำรวจระดับนายพลออกจากกองกฎหมายเพื่อไม่ให้ทำความเห็นแย้งหลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง

 

"วิษณุ" แจงคดี "บอส อยู่วิทยา" ไม่เงียบ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน  
           โดยนายวิษณุ ชี้แจงว่า การตรวจสอบยังดำเนินการอยู่โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เป็นเจ้าภาพ ได้ทราบว่ามีบุคคลหลายคนถูกเรียกมาตรวจสอบ และถ้าโยงไปถึงบุคคลใดก็อาจจะมีการเพิ่มรายชื่อบุคคลนั้นด้วย ทั้งนี้ในรายงานชุดของนายวิชาได้ระบุชื่อบุคคลไว้ทั้งหมด 19 คน ดโยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม แต่เมื่อเรื่องมาถึงป.ป.ช. ทางป.ป.ช.ได้สอบแล้ว 15 คน คนที่ท่านถามถึงที่เป็นพลอากาศก็เป็น 1 ใน 15 คนนี้ ต่อมาคือ กลุ่มตำรวจ ได้มีการส่งเรื่องไปให้ สตช.ดำเนินการตรวจสอบทั้งทางวินัย และอาญา โดยสตช.ได้แต่งตั้งจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการตรวจสอบ ทราบว่าได้เรียกตำรวจทั้งในและนอกราชการหลายท่านมาตรวจสอบ ซึ่งทราบว่ายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ได้สรุปออกมาว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ประการใด 

อ่านข่าว : เรียก! "อัยการ-อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน" สอบเพิ่มคดี "บอส-อยู่วิทยา"
         นายวิษณุ กล่าวต่อว่า กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มที่ส่งเรื่องไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ที่เข้ามาร่วมดำเนินการสอบสวน ซึ่งดีเอสไอได้รายงานกลับมายังรัฐบาลว่า มีการออกหมายจับ และสั่งฟ้องผู้ที่เป็นผู้ต้องหาหลัก สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องจัดเป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าถึงจังหวะใดพบว่ามีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มีอิทธิพล และอาจทำให้คดียุ่งเหยิงขึ้น ดีเอสไอก็พร้อมรับเป็นคดีพิเศษ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มทนายความ ได้ส่งเรื่องนี้ให้สภาทนายความรับไปดำเนินการตรวจสอบทนายความที่ปรากฎชื่อ ซึ่งการตรวจสอบถึงขั้นนัดสอบปากคำ แต่เจ้าตัวขอเลื่อนไปก่อนโดยอ้างเหตุโควิด โดยจะดำเนินการสอบในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ 


            นายวิษณุ กล่าวต่อวา ส่วนกรณีของนายวรยุทธนั้น ขณะนี้พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องในความผิด 2 ข้อหาแล้ว แต่ยังจับตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ ทางตำรวจได้ประสานกับทางตำรวจสากลยกเลิกหมายจับ แต่ได้ออกหมายใหม่เมื่อเร็วๆนี้ และได้ส่งไปยังประเทศต่างๆ รวม 194 ประเทศ เพื่อให้แจ้งเบาะแสกลับมา ล่าสุดเมื่อประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ มี 45 ประเทศ ได้รายงานกลับมายัง สตช.ว่าไม่พบเบาะแส หรือที่อยู่ของนายวรยุทธ แต่มีอยู่ประเทศหนึ่งได้ออกวีซ่าแชงเก้นให้ แต่ไม่ปรากฎว่าเจ้าตัวได้เดินทางเข้าออกประเทศนั้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้ สตช.ต้องประสานงานกับตำรวจสากลต่อไป โดยความคืบหน้าในเรื่องนี้จะมีการรายงานให้นายกฯทราบทุกเดือน


           

           นายวิษณุ ชี้แจงต่อกรณีของนายตำรวจที่ถูกย้าย ตนทราบก่อนหน้านี้ว่าได้ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งที่สำคัญใน สตช.ก่อนหน้านี้นานแล้ว ส่วนว่าจะครอบคลุมหมดทุกคนหรือไม่ ตนคงไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ แต่รับที่จะไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป และจะให้ทาง สตช. แจ้งให้นายธีรัจัยทราบ ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจสอบนั้นเกี่ยวข้องกับ กมธ.ของสนช.นั้น ในรายงานของนายวิชาได้กล่าวถึงบุคคลไว้ 19 คน มีการกล่าวถึงบางคนที่อยู่ใน กมธ.ฯจริง แต่จาก 19 คน ลดลงมาเหลือ 15 คนที่ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งมีบางคนอยูใน กมธ.ฯ แต่ทั้งรายงานของนายวิชา และป.ป.ช. ไม่ได้ตั้งสอบ กมธ.ฯทั้งคณะ โดยเลือกเอาบุคคลที่มีบทบาทตามที่คณะกรรมการชุดนายวิชาตรวจสอบ ซึ่งป.ป.ช.จะได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป.