กรมชลประทาน เตรียมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมชลประทาน เตรียมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมชลประทาน เตรียมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ย้ำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาคารชลประทาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-เล็ก ให้ พร้อมแจ้ง ปชช. เฝ้าระวังใกล้ชิด

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 6 (187/2564) เรื่อง "อากาศหนาวเย็นลงบริเวณประเทศไทยตอนบน กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้"

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอุณหภูมิลดลงกับมีอากาศเย็นและลมแรง โดยประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2564

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

กรมชลประทาน เตรียมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามและตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

โดยพิจารณาร่วมกับเส้นบริหารจัดการน้ำแบบพลวัต (Dynamic Operating Curve : DOC) พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ หากกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก และจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ขณะที่กรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10-11 พ.ย. 2564 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 90 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ภาพรวมยังคงมีสถานการณ์ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ดังนี้

1. เพชรบุรี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม และ อ.เมืองเพชรบุรี รวม 4 ตำบล 5 หมู่บ้าน ระดับน้ำทรงตัว

2. สุราษฎร์ธานี เกิดเหตุน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ อ.พระแสง รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

3.นครศรีธรรมราช เกิดเหตุน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น