จับสัญญาณ "น้ำทะเลหนุน" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!

จับสัญญาณ "น้ำทะเลหนุน" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!

"น้ำทะเลหนุน" สัญญาณเตือนกรุงเทพฯ เปราะบาง กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งถึงปัจจัยใหญ่เสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่รุนแรงไม่เกิน 10 ปี ?!

จากเหตุการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 6 จุดใน 5 เขต เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ยังเป็น 1 ใน 3 สาเหตุสำคัญส่งถึงกรุงเทพฯ อยู่ในภาวะเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม นอกเหนือภาวะ "น้ำฝน-น้ำเหนือ" ในช่วงฤดูฝน

เหตุการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" ครั้งนี้ ถึงแม้เป็นข้อมูลที่ กทม.ได้บันทึกรายงานไว้ที่ "แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี2564" ของสำนักการระบายน้ำ กทม. แต่ภาพน้ำทะเลหนุนล้นตลิ่งเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน ยังคงมีคำถามคนพื้นที่ว่า เหตุใดระบบการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าถึงไม่ทำงาน ?

โดยเฉพาะการได้ "ข้อมูล" คาดการณ์น้ำขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเดือน พ.ย.64 จาก "กรมอุทกศาสตร์" บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ มีตัวเลขคาดการณ์ "น้ำทะเลหนุนสูง" มากกว่า 1.2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ในช่วงวันที่ 8-12 พ.ย.

ตัวเลขเดิมที่ถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. จะมีน้ำขึ้นอยู่ที่ 1.33 ม.รทก. ถัดมาวันที่ 9 พ.ย. อยู่ที่ 1.31 ม.รทก. วันที่ 10 พ.ย. อยู่ที่ 1.29 ม.รทก. วันที่ 11 พ.ย. อยู่ที่ 1.26 ม.รทก. และวันที่ 12 พ.ย.อยู่ที่ 1.21 ม.รทก. แต่จากระดับน้ำที่ขึ้นจริงวันที่ 8 พ.ย. มีน้ำทะเลหนุนสูงเกือบ 2.4 ม.รทก. ทำให้เอ่อล้นตลิ่งและแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

สำหรับภาวะ "น้ำทะเลหนุนสูง" จะมีช่วงน้ำทะเลหนุน "สูงสุด" ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี แต่นอกเหนือจากปัจจัยน้ำทะเลหนุน ยังพบปัญหากายภาพพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจาก "น้ำเหนือ" ที่ไหลผ่าน และอยู่ภายใต้อิทธิพลการขึ้นและลงของน้ำทะเลบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมอ่าวไทย 

อ่านที่เกี่ยวข้อง : เช็คจุดเสี่ยง "น้ำท่วม" กทม. ผลจาก "น้ำทะเลหนุนสูง" 8-12 พ.ย.นี้

จับสัญญาณ \"น้ำทะเลหนุน\" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!

ทุกครั้งที่ระดับน้ำทะเลขึ้นและลง จะมีผลต่อ "ระดับน้ำ" แม่น้ำเจ้าพระยาให้ขึ้นและลงตามกัน ทำให้ระดับน้ำที่ยกตัวสูงขึ้น จึงเข้าท่วมนอกพื้นที่แนวป้องกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือยกตัวข้ามแนวป้องกันตั้งแต่คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ปากคลองชักพระ และคลองพระโขนง ตามแนวระยะทาง 87.93 กม.

กทม.ทำอะไรกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง?

ปัญหาน้ำทะเลหนุนทุกครั้ง กทม.จะป้องกันได้ 2 แนวทาง  1.เสริมแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่งตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลอง 2.ควบคุมดูแลประตูระบายน้ำ และปิดกั้นท่อระบายน้ำ ไม่ให้น้ำจากด้านนอกแม่น้ำเจ้าพระยา ดันเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน แต่พื้นที่ชุมชนที่อาศัย "นอกแนวป้องกันน้ำท่วม" 11 ชุมชน 239 ครัวเรือนในพื้นที่ 7 เขต กทม.ต้องวางแนวกระสอบทรายเป็นแนวชั่วคราว ที่ความสูง 3 ม.รทก. จากเดิมที่วางแนวอยู่ที่ 2-2.5 ม.รทก.

จับสัญญาณ \"น้ำทะเลหนุน\" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!

สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" ตลอดเดือน พ.ย. "ผู้ว่าฯ กทม." พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำทะเลหนุนอีกครั้งในช่วงวันที่ 20-26 พ.ย.นี้ โดยมีระดับน้ำจะเฉลี่ยประมาณอยู่ที่ 1.17  ม.รทก. 

"กรุงเทพธุรกิจ" ได้ตรวจสอบข้อมูลจาก "กรมอุทกศาสตร์" ซึ่งวัด "ฐานน้ำ" บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางกอกใหญ่ กับตารางฐานน้ำขึ้นเต็มที่ประจำเดือน พ.ย.64 เฉพาะวันที่ 20-26 พ.ย. มีดังนี้ 

วันที่ 20 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

วันที่ 21 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

วันที่ 22 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

วันที่ 23 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

วันที่ 24 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

วันที่ 25 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

วันที่ 26 พ.ย. : น้ำขึ้นอยู่ที่ 1.13 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

จับสัญญาณ \"น้ำทะเลหนุน\" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!

ขณะนี้ "อัศวิน" ได้สั่งให้สำนักงานเขต 19 แห่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร บางคอแหลมยานนาวา คลองเตย พระโขนง บางนา ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน ราษฏร์บูรณะ บางพลัด) เร่งสำรวจจุดเสี่ยง เพื่อกำหนดแผนป้องกัน โดยเฉพาะแจ้งเตือนชุมชนริมน้ำและไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร ให้ยกของขึ้นที่สูงรับสถานการณ์ตลอดเดือน พ.ย.64

ไม่เกิน 10 ปีน้ำทะเลหนุนสูงรุนแรงกว่าเดิม

จากปัญหา "น้ำทะเลหนุนสูง" เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ยังมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาระบุว่า อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ รุนแรงกว่าในปี 2554 โดยในปี 2554 อิทธิพลน้ำเหนือมีสูงกว่า (จึงทำให้ช่วงเวลาน้ำท่วมทอดเวลายาว) แต่ในปีนี้มาในช่วงน้ำเกิดประมาณทุกๆ 2 สัปดาห์

"เหตุการณ์แบบนี้ในระยะสั้น หลังจากวันที่ 10 พ.ย. จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงประมาณวันที่ 21-24 พ.ย. น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกครั้งหนึ่ง (แต่ระดับอาจจะต่ำกว่าวันนี้ประมาณ 0.20-0.30 m) และจะหนุนสูงสุดในปีนี้ (สูงกว่าวันนี้ประมาณ 0.10-0.20 m) ช่วงวันที่ 5-9 ธ.ค. ดังนั้นต้องเฝ้าระวังกันด้วย"

รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ในระยะยาว (อาจไม่ถึง 10 ปี) เหตุการณ์แบบนี้จะเห็นชัด และรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน) โดย กทม.และปริมณฑลถูกประเมินโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีความเปราะบางสูงมาก 

จากคำเตือน "รศ.ดร.เสรี" นั้นสอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่กายภาพของกรุงเทพฯ เป็นลักษณะแอ่งกะทะเนื่องจากแผ่นดินทรุด มีระดับความสูงต่ำของแต่ละเขตแตกต่างกัน โดยพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ยังพบว่ามีระดับต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 3 ม.รทก. อาทิ ถนนมหาราช เขตพระนครอยู่ที่ 1.50 ม.รทก. หรือถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย อยู่ที่ 1.60 ม.รทก. (ตามภาพ) เมื่อเกิดภาวะศึก 3 น้ำ "น้ำทะเลหนุน-น้ำเหนือ-น้ำฝน" ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมถนนและพื้นที่ต่ำได้ทุกเมื่อ

จับสัญญาณ \"น้ำทะเลหนุน\" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!

ที่ผ่านมา "ผู้ว่าฯกทม" เคยเน้นย้ำแผนพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัย "น้ำฝน" ตามที่ พล.ต.อ.อัศวินเคยบอกว่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากจะกระทบกับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ทันที 

แต่จากคำเตือน "รศ.ดร.เสรี" ครั้งนี้ กำลังส่งสัญญาณเตือนไปถึง กทม.ว่า "น้ำทะเลหนุนสูง" ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หน่วยงาน กทม.จะประมาทไม่ได้เช่นกัน.

อ่านที่เกี่ยวข้อง : เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64 

จับสัญญาณ \"น้ำทะเลหนุน\" เตือนกรุงเทพฯเปราะบาง เสี่ยงจมไม่เกิน 10 ปี ?!