ดึงภาษีสรรพสามิตตั้งกองทุน อุดหนุนเงินให้ผู้ซื้อรถ EV 20%

ดึงภาษีสรรพสามิตตั้งกองทุน อุดหนุนเงินให้ผู้ซื้อรถ EV 20%

รัฐบาลเล็งคลอดมาตรการใหม่หนุน “อีวี” ตั้งกองทุนอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า ดึงภาษีสรรพสามิตตั้งกองทุนเล็งหนุนเงินเป็นส่วนลด 20% หวังกระตุ้นดีมานด์ สร้างตลาด “สุพัฒนพงษ์” ชง ครม.เคาะ ธ.ค.นี้

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยกำหนดนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถ Zero Emission Vehicle (ZEV) ซึ่งเป็นรถปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573

ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อสนับสนุนผู้ผลิต ในขณะที่ต่างประเทศมีมาตรการสนับสนุนผู้ใช้รถ เช่น การให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า การยกเว้นค่าทางด่วนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนผู้ใช้รถ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เตรียมที่จะเสนอชุดมาตรการเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อสนับสนุนการใช้อีวีในประเทศให้เกิดขึ้นในจำนวนที่มากขึ้นโดยเร็ว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สำหรับชุดมาตรการเรื่องสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประชาชนจะออกมาเป็นแพ็คเกจ เพื่อส่งเสริมดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก คือ

1.การลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ

2.การตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าบางส่วน 

สำหรับการให้เงินอุดหนุนตัวเลขสูงสุดที่มีการหารือกันในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 20% ของราคารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ราคาที่จำหน่ายในประเทศลดลงใกล้เคียงกับราคาที่จำหน่ายในต่างประเทศ 

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่พิจารณามาตรการดังกล่าวยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะที่มาของแหล่งเงินที่จะใส่ในกองทุนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่สามารถที่จะใช้งบประมาณของภาครัฐไปสนับสนุนโดยตรงได้ เพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมายและข้อจำกัดทางงบประมาณ 

สำหรับรูปแบบของกองทุนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะจัดตั้งขึ้น โดยได้พิจารณาถึงความยั่งยืนของสถานะกองทุน ซึ่งในเบื้องต้นมีการพิจารณาถึงการนำภาษีสรรพสามิตรถยนต์บางส่วนมาใช้จัดตั้งเป็นกองทุนนี้ และนำเงินจากกองทุนไปอุดหนุนผู้ซื้อรถยน์ไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

นอกจากนั้นรัฐบาลจะสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ อาจเป็นมาตรการทางด้านภาษีหรือมาตรการด้านอื่นๆในระยะต่อไปโดยมาตรการนี้จะครอบคลุมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทุกค่ายในประเทศเพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น

“ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมาตรการหนึ่งคือ การอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่จะเป็นมาตรการผลักดันให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในระยะแรกตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยสัดส่วนอุดหนุนอาจอยู่ที่ 20% สมมติราคารถ 1 ล้านบาท จะลดลงเหลือ 8 แสนบาท ซึ่งภาครัฐจะมีบทบาทสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น และเมื่อมีดีมานด์เพิ่มขึ้นจะทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชนตามมา และมั่นใจว่าเอกชนพร้อมที่จะลงทุนอย่างแน่นอน” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลมองว่าการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศจะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนมาก เนื่องจากที่ผ่านมา มีค่ายรถเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า และได้รับการตอบรับดีมาก โดยมียอดจองหลายหมื่นคันในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการปรับปรุงใหม่จะมีการสนับสนุนจูงใจทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้รถ โดยกำลังจะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยอาจจะเป็นมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในไทย และมาตรการภาษีสำหรับรถนำเข้า

ในขณะที่การส่งเสริมแบตเตอรี่ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญของอีวีจะมีการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมสรรพสามิต ในการกำหนดมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาลงทุนในไทย

นอกจากนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มสถานีชาร์จโดยปัจจุบันมีแล้ว 2,000 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 1,200 แห่ง ในเวลาไม่เกิน 10 ปี นับจากนี้ ส่วนประชาชนที่ต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านติดต่อขอรับเงื่อนไขการใช้ไฟได้

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์