นายกฯ นิวซีแลนด์ปลื้มสหรัฐส่งสัญญาณมีส่วนร่วมอินโดแปซิฟิกมากขึ้น

นายกฯ นิวซีแลนด์ปลื้มสหรัฐส่งสัญญาณมีส่วนร่วมอินโดแปซิฟิกมากขึ้น

นายกฯ นิวซีแลนด์ตอบรับสัญญาณจากสหรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ระบุรัฐบาลของเธอมีสัมพันธ์ที่บรรลุวุฒิภาวะกับจีนแล้วสามารถเห็นต่างได้

ตามที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิรน์ของนิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ผ่านระบบออนไลน์ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเรื่องการฟื้นตัวจากโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจที่ตามมา เธอได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ “มีทเดอะเพรส” สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีของสหรัฐออกอากาศวันนี้ (7 พ.ย.) ว่า สหรัฐภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน “มีบทบาทสำคัญน่าเชื่อถือ” ต่อสายสัมพันธ์ด้านการป้องกันเชิงยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และการค้าในภูมิภาคนี้ 

อ่านข่าว : จีนโต้รายงานต้นตอโควิด-19ของสหรัฐไม่น่าเชื่อถือ

“เรายินดีกับการเข้ามาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาครั้งสำคัญในภูมิภาค และอย่างที่เราเห็น เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในยุคสมัยใหม่” นายกฯ นิวซีแลนด์กล่าว

นายกฯ อาร์เดิร์นย้ำจุดยืนรัฐบาลของเธอว่า นิวซีแลนด์ที่มีความสัมพันธ์ด้านการค้าหลักกับจีนและได้รับการยกย่องจากรัฐบาลปักกิ่งมานานว่าเป็นต้นแบบความสัมพันธ์ที่มีกับชาติตะวันตก จะดำเนินนโยบายแห่ง “บูรณภาพ” กับจีน

“เรายังคงเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างเราเป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะยกประเด็นที่เรากังวลมาหารือได้ อย่างประเด็นสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และสำคัญมากๆ ตรงที่เราสามารถทำแบบนั้นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการค้า

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียเพื่อนบ้านนิวซีแลนด์เลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2561 เมื่อรัฐบาลแคนเบอร์ราห้ามหัวเว่ยเทคโนโลยีส์เข้าทำเครือข่าย 5จี ปีที่แล้วความสัมพันธ์ยิ่งเย็นชาลงไปอีกเมื่อออสเตรเลียขอให้สอบสวนอิสระถึงต้นกำเนิดการระบาดของโควิด-19 ที่รายงานครั้งแรกทางภาคกลางของจีนเมื่อปี 2562 

จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าโภคภัณฑ์ออสเตรเลีย เช่น ไวน์และบาร์เลย์ จำกัดการนำเข้าเนื้อวัว ถ่านหิน และองุ่น ที่สหรัฐเรียกว่า “การบีบทางเศรษฐกิจ” อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนิวซีแลนด์ไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งสองชาติยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีกันเมื่อเดือน ม.ค. แม้นิวซีแลนด์จะมีท่าทีต่อสิทธิมนุษยชนจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับออสเตรเลีย