"อภิสิทธิ์" แนะ "ผู้มีอำนาจ" รับฟัง "ฝ่ายเรียกร้อง" แก้ม.112-รธน.60

"อภิสิทธิ์" แนะ "ผู้มีอำนาจ" รับฟัง "ฝ่ายเรียกร้อง"  แก้ม.112-รธน.60

อดีตนายกฯ ถอดบทเรียนแก้ขัดแย้ง ม.112 เปิดพื้นที่รับฟัง ลดเงื่อนไขเผชิญหน้า จี้ให้แก้ รธน.60 สร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ

             นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีอภิปราย เรื่อง ประชาธิปไตยไทยบนความท้าทายและโอกาสในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 ประจำปี 2564 เรื่อง ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่ วันที่สอง โดยแสดงความเห็นต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นปกติที่ควรมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ  แต่มีสาระที่ควรพิจารณา ว่า สิ่งใดทำได้หรือไม่ การลงโทษเหมาะสมหรือไม่ กระบวนการที่นำไปสู่ศาลเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงสิทธิที่ใครแจ้งความได้บ้าง และข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นตนมองว่ามีทางออก คือผู้นำควรรับฟัง  แต่หากฝ่ายหนึ่งบอกว่า ยกเลิก แต่อีกฝ่ายบอกว่า ห้ามแตะ จะทำให้พูดคุยกันไม่ได้ 

 

             “ในสมัยที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกมาตรา 112 พิจารณาและทางออกที่ทำ คือ ปล่อยให้กระบวนการเป็นปกติ มีการร้องทุกข์ แต่ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย เพื่อกลั่นกรองคดี แยกคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นทางวิชาการ ความไม่เข้าใจของต่างประเทศ กรองและแยกจากการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง จากนั้นให้กรรมการรวบรวมว่าการบังคับใช้และมีปัญหาของกฎหมายที่จำเป็นแก้ไขหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

       อ่านข่าว : ก้าวไกลแถลงจุดยืน ปัดฝุ่นร่างแก้ม.112 ยันไม่ขัดรธน.จี้สภาฯบรรจุวาระ    

 อดีตนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัจจัยและโอกาสของการเมืองไทยในบริบทที่เปลี่ยนแปลง ว่า ผู้มีอำนาจต้องเอื้อมมาหาผู้เรียกร้อง และจริงใจต่อการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง พยายามลดช่องว่างการพูดคุย หรือหาคำตอบด้วยปัญญา ขณะเดียวกันต้องลดพื้นที่การเผชิญหน้า กระบวนการที่ทำได้ง่ายสุด คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ บนข้อที่ตกลงร่วมกันได้ คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน เสมอภาค เป็นธรรมทางการเมือง ตามหลักประชาธิปไตยสากล และ ด้านบริบทประวัติศาสตร์ของไทยที่ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

 

 

 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าสิ่งสำคัญคือการแก้ไขจุดบกพร่อง โดยปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ เป็นกติกาที่มีวาระทางการเมือง เพื่อช่วยใครหรือกีดกั้นใคร เขียนกติกาเพื่อประโยชน์ของกลุ่มให้บางกลุ่มนั้นรักษาอำนาจและกีดกันบางกลุ่ม ทุกฝ่ายจึงไม่ยอมรับกติกา  ดังนั้นจุดเริ่มสำคัญ คือ ผู้มีอำนาจต้องเอื้อมมือ เขียนกติการัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอม  รวมถึงตีโจทย์ของปัญหาโดยนำบทเรียนในอดีตมาพิจารณา เช่น จะแก้ปัญหาคนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจในทางมิชอบอย่างไร หากให้สภาฯ ตัดสินใจทั้งหมด จะพบความล้มเหลว หากให้ศาลพิจารณาไม่เหมาะสม ส่วนองค์กรอิสระนั้นไม่อิสระจริง นอกจากนั้นต้องพูดกันด้วยเหตุผลวางผลประโยชน์ของกลุ่มทางการเมืองลง  เพื่อให้เกิดโอกาสสร้างเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน  ให้การเมือง เศรษฐกิจเดินได้ เพื่อโลกและคนในอนาคต.