มอเตอร์เวย์ “อู่ตะเภา” หนุนเมืองการบินตะวันออก

มอเตอร์เวย์ “อู่ตะเภา” หนุนเมืองการบินตะวันออก

“กรมทางหลวง” เร่งมาร์เกตซาวดิ้ง เตรียมลงทุน 4.5 พันล้านบาท สร้างส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 เชื่อมท่าอากาศยานอู่ตะเภา เล็งตอกเสาเข็มปีหน้า เปิดบริการรองรับท่าอากาศยานใหม่ในปี 2568

การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มเตรียมพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ในขณะที่พื้นที่รอบสนามบินจะมีการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมสนามบิน โดยเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเข้าสนามบินอู่ตะเภา

ว่าที่ ร.ต.พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2564 โดยมีการเสนอสรุปผลการศึกษา รูปแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม มาตรการป้องกัน แก้ไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ผลสรุปการศึกษาโครงการ ประกอบด้วย แนวเส้นทางโครงการจะมีจุดเริ่มต้นโครงการจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง อู่ตะเภาบนมอเตอร์เวยหมายเลข 7 ผ่านพื้นที่กองพันปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรมทหารปืนใหญ่ กองพลนาวิกโยธิน และสิ้นสุดโครงการที่แนวเขตทางเข้า-ออกสนามบินอู่ตะเภาแห่งใหม่ ระยะทาง 2 กิโลเมตร

รวมทั้งออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กับสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ในบางทิศทาง ขณะที่แบบทางแยกต่างระดับจะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับแบบ Semi-Directional with Loop Ramp โดยรองรับการเดินทางจาก อ.สัตหีบเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา

ส่วน Loop Ramp จะรองรับการเดินทางทิศทางออกจากสนามบินอู่ตะเภาไป จ.ระยอง และก่อสร้าง On-Off Ramp อีก 2 แห่ง เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างมอเตอร์เวยหมายเลข 7 กับทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) โดยเลี้ยวซ้ายได้อิสระด้วยการเชื่อมต่อระดับพื้นในทิศทางจาก อ.สัตหีบ ไปด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภา และทิศทางจากด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภาไป จ.ระยอง

นอกจากนี้ มาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ จะกำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันในระหว่างก่อสร้างอย่างเคร่งครัด อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย การติดตั้งป้ายเตือน การเพิ่มไฟส่องสว่างในบริเวณที่มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงการออกแบบรายละเอียด และปรับปรุงมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนปฏิบัติการด้านต่างๆ ให้เหมาะสม ประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาของโครงการ โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และใช้งบประมาณ 4,508 ล้านบาท และเปิดบริการปี 2568

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 เป็นส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ โดยจะเชื่อมมอเตอร์เวย์สาย 7 ไปอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ของสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและความสะดวกการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมแบบบูรณาการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับความคืบหน้าของโครงการนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นผลการศึกษาได้ข้อสรุปเรื่องแนวเส้นทางของโครงการ จากการเปรียบเทียบผลดีผลเสียทั้งหมด 3 แนวเส้นทาง คือ

แนวเส้นทางที่ 1 ใช้วงเงินก่อสร้าง 450 นบาท เป็นทางแยกยกระดับไม่มีการเวนคืน แต่มีระยะทางมากที่สุด ต้นทุนการเดินทางมาก ปริมาณการจราจรหนาแน่น และอนาคตไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ

แนวเส้นทางที่ 2 ค่าก่อสร้างราว 6,000 ล้านบาท ค่าเวนคืน 457 ล้านบาท ในพื้นที่ 44 ไร่ และใช้พื้นที่ของทหารเรือ 53 ไร่ มีข้อดี คือลักษณะเส้นทางเป็นเรขาคณิต ใช้เขตทางร่วมกับรถไฟความเร็วสูงได้ในบางส่วน แต่แนวเส้นทางนี้จะมีผลกระทบจากการเวนคืนสูง และต้องก่อสร้างด่านจัดเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม

แนวเส้นทางที่ 3 ค่าก่อสร้าง 4,265 ล้านบาท ค่าเวนคืน 108 ล้านบาท บนพื้นที่ 10 ไร่ และใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่น 78 ไร่ มีข้อดี คือ ใช้ด่านจัดเก็บค่าผ่านทางร่วมกับด่านอู่ตะเภาได้ มีการเวนคืนพื้นที่น้องกว่ารูปแบบทางเลือกที่ 2 แต่มีข้อเสียของแนวเส้นทาง คือ มีลักษณะทางเรขาคณิตน้อยกว่ารูปแบบที่ 2 แต่มีรัศมีโค้งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ จากการพิจารณาความเหมาะสมและคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางมาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยปี 2568 ที่เริ่มเปิดให้บริการจะมีผู้โดยสาร 16 ล้านคนต่อปี และเพิ่มต่อเนื่องในปี 2598 เป็น 60 ล้านคนต่อปี ดังนั้นการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ต้องรองรับปริมาณจรจาและความต้องการในอนาคต

รวมทั้งการศึกษาพบว่ารูปแบบที่ 3 เหมาะสมที่สุด เพราะรองรับปริมาณจราจรและความต้องการการเดินทางในอนาคตได้ โดยเมื่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันเปิดให้บริการ ถึงแม้ว่ารูปแบบที่ 2 จะมีลักษณะทางกายภาพด้านเรขาคณิต (Geometry Design) ที่ดีกว่า แต่มีต้นทุนในการก่อสร้างและผลกระทบจากการเวนคืนพื้นที่มากกว่ารูปแบบที่ 3 อีกทั้งใช้ด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภาเดิมได้ จึงไม่ต้องสร้างด่านจัดเก็บค่าผ่านทางใหม่