"วิปรัฐบาล" ตั้ง "คณะทำงาน" เตรียมพร้อมแก้ "พ.ร.ป." ใช้เลือกตั้ง

"วิปรัฐบาล" ตั้ง "คณะทำงาน" เตรียมพร้อมแก้ "พ.ร.ป." ใช้เลือกตั้ง

"โกวิทย์" เผยวิปรัฐบาล สั่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเนื้อหา ร่างกม.ลูก ให้สอดรับรธน.ฉบับแก้ไข พร้อมขอ "นายกฯ" ถกพรรคร่วม ทบทวนนโยบาย

        นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ฐานะกรรมการประสานงาน พรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงมติของประชุมวิปรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ว่า ด้วยระบบเลือกตั้ง โดยมีตน, นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์, นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น ร่วมเป็นคณะทำงาน และจะนัดหารือกันนัดแรกภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเตรียมพร้อมเนื้อหารอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

 

        เมื่อถามว่าอะไรคือเหตุผลที่วิปรัฐบาลต้องตั้งคณะทำงาน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแต่ละพรรคจะแยกกันเสนอ นายโกวิทย์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ก่อนหน้านั้นที่พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เกิดประเด็น แต่พอกติกาเลือกตั้งปรับให้เป็นบัตรเลือกตั้ง2 ใบ ได้ขอหารือ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องปลายน้ำ แต่ยังดีกว่าที่ไม่ได้คุยกัน

 

        “ผมคาดว่าการแก้ไขกฎหมายลูกเพื่อใช้เลือกตั้งมีหลายประเด็นที่อาจเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ยังมีความเห็นที่หลากหลาย นอกจากนั้นอาจมีประเด็นที่ต้องพูดคุย ทั้งการใช้ระบบไพรมารี่โหวต การตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หรือสาขาของพรรคการเมือง” นายโกวิทย์ กล่าว

 

        นายโกวิทย์ กล่าวถึงการขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือนอกรอบกับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ตนได้หารือกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ส่วนตัวมองว่าแกนนำรัฐบาลควรเร่งดำเนินการและเพื่อมีเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน เพื่อทบทวนโยบายของรัฐบาลให้การทำงานเกิดประโยชน์กับประชาชน

 

        “การร่วมรัฐบาลตอนนี้ไม่เหมือน 1-2 ปีแรก ที่ข้าวใหม่ปลามัน แต่พอเข้าปีที่ 3 - 4 แล้ว รู้สึกว่าเหมือนมองทุกคนเป็นคู่แข่งทางการเมือง ทั้งที่ในช่วงปลายเทอมรัฐบาลควรทบทวนนโยบาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน และประชาชน หรือนำนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลไปดำเนินการ เช่น นโยบายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นที่ขณะที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ชูประเด็นดังกล่าวหาเสียงไว้แล้ว แต่รัฐบาลมีพรรคพลังท้องถิ่นไทอยู่ร่วม แต่ไม่พบการผลักดันนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งผมมองว่าอาจทำให้กลายเป็นประเด็นความเสียเปรียบได้”นายโกวิทย์ กล่าว.