"นายกฯ"สั่งช่วยรถบรรทุก 4กระทรวงระดมสมองแก้ "น้ำมันแพง" ทั้งระบบ

"นายกฯ"สั่งช่วยรถบรรทุก 4กระทรวงระดมสมองแก้ "น้ำมันแพง" ทั้งระบบ

"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" สั่งแก้ความเดือดร้อน ผู้ประกอบขนส่ง หลัง เจอน้ำมันแพง "คมนาคม" หารือ ผู้เกี่ยวข้อง จ่อนำข้อสรุปเข้า "ครม." ระบุ 4 กระทรวง ระดมสมอง ดูปัจจัยทำน้ำมันแพงทั้งระบบ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบภาคขนส่งและโลจิสติกส์ไทย หลังราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง จากเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้ง เศรษฐกิจและภาคการผลิตไทยเริ่มฟื้นตัว ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการรถบรรทุกเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการขนส่งเรียกร้อง ดังนี้ 

1. ขอให้รัฐบาลพิจารณาการนำน้ำมันปาล์มออกจากสัดส่วนการผสมของน้ำมันดีเซล จากราคาปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันและสูงกว่าน้ำมันดีเซล 

2. ขอให้กระทรวงการคลัง พิจาณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันสูงถึงเกือบ 6 บาท ให้ลดลง 3 บาท  เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงเหลือลิตรละ 25 บาท

ล่าสุด รมว.คมนาคม ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงานและผู้แทนสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะนำผลการหารือในวันนี้ กราบเรียนนายกฯ และนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า นายกฯ ติดตามสถานการณ์พลังงานมาโดยตลอดและเข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญผู้ประกอบการ ที่ผ่านมานายกฯ ได้พยายามช่วยเหลือ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีพลังงาน โดยกองทุนน้ำมันได้ตรึงราคากลุ่มราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาภาระผู้ประกอบการในเบื้องต้น  

หลังจากนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง จะศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องราคาน้ำมันทั้งระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมสอดคล้องกับข้อเท็จจริงราคาพลังงานโลก ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้ เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและพลังงานรูปแบบอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง แข่งขันได้ รวมทั้งสามารถขยายตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจและภาคการผลิตไทยที่กลับการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย 

สำหรับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่  (1) ราคาหน้าโรงงานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ (2) ภาษีสรรพสามิตที่อัตราประมาณ 0.975 ถึง 6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งจัดเก็บบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม  (3) ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่นที่ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ (4) ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าเกือบทุกประเภท (5) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ-17.6143 ถึง 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ  และ (6) ค่าการตลาดซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ