“มท.1” ห่วง ปชช.ช่วง “ลอยกระทง” สั่งทุก จว.พร้อมป้องกันอุบัติเหตุ-ไฟไหม้

“มท.1” ห่วง ปชช.ช่วง “ลอยกระทง” สั่งทุก จว.พร้อมป้องกันอุบัติเหตุ-ไฟไหม้

“มท.1” เป็นห่วงประชาชนช่วง “ลอยกระทง” สั่งการ กทม.-ทุกจังหวัด เตรียมพร้อมป้องกันอุบัติเหตุ-ไฟไหม้ ควบคู่คุมเข้มมาตรการป้องระบาดโควิด-19 เคร่งครัด

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันลอยกระทง ซึ่งตามประเพณีไทย ในแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จะจัดสถานที่ให้พี่น้องประชาชน ได้ลอยกระทงตามประเพณี ในช่วงเวลาที่ต่างกันไป โดยคาดว่าจะมีพี่น้องประชาชนนิยมเดินทางไปร่วมกันลอยกระทงกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำ โป๊ะ ท่าเรือโดยสาร ซึ่งมักจะเกิดอุบัติเหตุทั้งทางถนน ทางน้ำ และเหตุไฟไหม้อยู่เป็นประจำ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก 

อ่านข่าว : “นายกฯ” ไฟเขียวจัด “ลอยกระทง” ได้ ภายใต้มาตรการคุมเข้มงวด 3 ข้อ

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายให้พี่น้องประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมประเพณีลอยกระทง  ทั้งด้านการจราจรบนท้องถนน ทางน้ำ รวมถึงอันตรายจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ โดยเข้มงวด กวดขัน การออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือขายดอกไม้ไฟ ให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และให้เร่งตรวจตราสถานที่ โป๊ะ ท่าเรือโดยสาร หากพบว่ามีสภาพไม่ปลอดภัย ต้องซ่อมแซมให้มีความมั่นคงแข็งแรง รวมถึงดูแลเต็นท์ และสถานที่จัดงานให้ปลอดภัย พร้อมกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่จะจัดงานวันลอยกระทง เตรียมการป้องกันและระวังไม่ให้เกิดอุบัติภัย ทั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัย ทั้งทางบก ทางน้ำ หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที 

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในวันลอยกระทง 19 พฤศจิกายน 2564 ให้จัดชุดปฏิบัติการโดยบูรณาการร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัดคีภัย และอุบัติภัยอื่น โดยเฉพาะตามริมน้ำ โป๊ะ ท่าเรือโดยสาร ที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย พร้อมอำนวยความสะดวกด้านจราจร รักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร ควบคู่กับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ การสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างกัน ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และเร่งสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจแนวปฏิบัติตามกฎหมาย และตระหนักถึงอันตราย ผลกระทบที่อาจเกิดจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ การปล่อยโคมลอย โคมควัน และเชิญชวนประชาชนจิตอาสา ร่วมทำความสะอาด เก็บขยะตามสถานที่จัดงาน ตามแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดสิ่งกีดขวางทางน้ำและรักษาระบบนิเวศน์ต่อไป 

“ในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการทะเลาะวิวาท หรือเหตุความไม่สงบในงานลอยกระทง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือโทร. 191 และหากพบเหตุไฟไหม้ หรืออุบัติภัย แจ้งสายด่วนอัคคีภัย โทร. 199 หรือสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ได้ทันท” พลเอก อนุพงษ์ กล่าว