ไฟเซอร์เตรียมมอบสูตรผลิตยารักษาโควิดให้ทั่วโลกตามรอยเมอร์ค

ไฟเซอร์เตรียมมอบสูตรผลิตยารักษาโควิดให้ทั่วโลกตามรอยเมอร์ค

เอ็มพีพีเผยบริษัทไฟเซอร์ได้เข้าเจรจากับเอ็มพีพีแล้ว เกี่ยวกับการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าวให้แก่ประเทศต่างๆ ถือเป็นการเดินตามรอยเมอร์คซึ่งจะช่วยให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงยารักษาโควิด-19ได้มากขึ้น

 นายชาร์ลส์ กอร์ ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (เอ็มพีพี) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวชื่นชมบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งได้อนุญาตให้ประเทศต่างๆผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว

"ผมหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทต่างๆเข้ามาหาเอ็มพีพี เพื่อขอรับช่วงสิทธิบัตรผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ เนื่องจากการเข้าถึงยาดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ ซึ่งหากมองจากมุมทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาคอุตสาหกรรมมีผลงานที่ดี โดยเริ่มจากการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และขณะนี้ก็กำลังผลิตยารักษาโรค แต่ปัญหาในการเข้าถึงวัคซีนและยาดังกล่าวกำลังทำลายความสำเร็จที่เกิดขึ้น" นายกอร์กล่าว

อ่านข่าว : เอฟดีเอไฟเขียวฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี

เอ็มพีพี แถลงก่อนหน้านี้ว่า เอ็มพีพี ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับบริษัทเมอร์คและริดจ์แบ็ค โดยบริษัททั้งสองจะมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่ประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ นายกอร์ ยังเปิดเผยว่า บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองระยะที่ 3 สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับยาโมลนูพิราเวียร์ ก็ได้เข้าเจรจากับเอ็มพีพีแล้ว เกี่ยวกับการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าวให้แก่ประเทศต่างๆเช่นกัน

บริษัทที่ต้องการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สามารถยื่นเรื่องต่อเอ็มพีพีเพื่อขอการอนุมัติ โดยเอ็มพีพีจะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว

นอกจากนี้ เอ็มพีพียังเปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทกว่า 50 แห่งที่ได้ยื่นเรื่องขอรับช่วงสิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว

บริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบ็คจะไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตี หรือค่าตอบแทนใดๆจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยังคงจัดอันดับโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

คาดว่าการมอบช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาดังกล่าว จะทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์ หรือประมาณ 650 บาท ขณะที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 23,000 บาท

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

อย่างไรก็ดี ประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับช่วงสิทธิบัตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์มีอยู่ 105 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและแอฟริกา โดยอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา (LDC), กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (SSA), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (LIC), กลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง (LMIC) และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (UMIC)

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ 6 ประเทศที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่ไม่อยู่ในรายชื่อ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย