สอบ ‘ก.พ.’ เป็น ‘ข้าราชการ’ ได้ ‘สวัสดิการ’ อะไรบ้าง ?

สอบ ‘ก.พ.’ เป็น ‘ข้าราชการ’ ได้ ‘สวัสดิการ’ อะไรบ้าง ?

ส่องข้อดีของการ "สอบ ก.พ." และ "สวัสดิการ" หลังได้บรรจุเป็น "ราชการ" นอกเหนือจากผลตอบแทนตามหน้าที่แล้วยังมีโอกาสได้รับอะไรอีกบ้าง

สอบ "ก.พ." บันไดขั้นแรกของการของการคัดสรรบุคคลเป็น "ข้าราชการ" ที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะนอกจากการได้ทำงานในหน่วยงานราชการที่ถูกมองว่ามีความมั่นคงแล้ว  ข้อดีของการเป็น "ข้าราชการ" นอกเหนือจากเงินเดือนซึ่งเป็นการตอบแทน ยังมี "สวัสดิการ" และ "ประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ" ด้วย 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูว่า หลังสอบ ก.พ. ผ่าน บรรจุเป็นข้าราชการแล้วเบื้องต้นมีโอกาสจะได้สิทธิอะไรบ้าง ? 

 

  •  สวัสดิการ 

สวัสดิการ คือ ค่าตอบแทนที่ทางราชการจัดให้แก่ราชการในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อช่วยให้มีความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสวัสดิการของ "ข้าราชการพลเรือนสามัญ" เบื้องต้นมีทั้งที่กำหนดให้เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ดังนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘ก.พ.’​ กำหนดวันสอบปี 64 แล้ว อยากสมัครปีหน้า ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

 

 สิทธิการลา 11 ประเภท 

1. การลาป่วย สามารถลาป่วยได้ตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองของแพทย์, การลาป่วยไม่ถึง 30 วัน ตามการพิจารณา

2. การลาคลอดบุตร ไม่เกิน 90 วัน

3. การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คลอดบุตร และให้มีสิทธิลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทําการ

4. การลากิจส่วนตัว เช่น ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทําการ

5. การลาพักผ่อน ข้าราชการสามารถลาพักผ่อนประจําปี ในปีงบประมาณหนึ่งได้ 10 วันทําการ (เว้นแต่รับราชการยังไม่ถึง 6 เดือน)

6. การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ไม่น้อยกว่า 60 วัน

7. การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล แล้วแต่กรณี

8. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน แล้วแต่กรณี

9. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

10. การลาติดตามคู่สมรส ลาได้ ไม่เกิน 2 ปี และในกรณีจําเป็นอาจอนุญาตให้ลาต่อได้อีก 2ปี แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี พิจารณาแล้วแต่กรณี

11. การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ สามารถลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพครั้งหนึ่งได้ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในหลักสูตรที่ประสงค์จะลา แต่ไม่เกิน 12 เดือน (กรณีได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทําการตามหน้าที่ จนทําให้ตกเป็นผู้ทุพพลภาพหรือพิการ)

 

  •  เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 

1. ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเลือด และส่วนประกอบของเลือดและอื่นๆ ทํานองเดียวกันที่ใช้ในการบําบัดรักษาโรค

2. ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบําบัดรักษาโรค รวมทั้งค่าซ่อมแซมอวัยวะเทียม 

3. ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการทางการพยาบาล ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าวิเคราะห์โรค แต่ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมแพทย์พิเศษ 

4. ค่าห้อง และค่าอาหาร ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาพยาบาล

5. ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค

6. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ

7. ค่าใช้จ่ายอื่นที่จําเป็นแก่การรักษาพยาบาล ตามที่กระทรวงการคลังกําหนด

  •  เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร 

"ข้าราชการ" มีสิทธิได้รับสวัสดิการ "ค่าเล่าเรียนของบุตร" ที่ชอบด้วยกฎหมายอายุที่ไม่เกิน 20 ปีได้สูงสุด 3 คน นับเรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ไม่ว่าเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งใด หรืออยู่ในอำนาจปกครองของตนหรือไม่

 

  •  เงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ 

ข้าราชการหรือลูกจ้างประจํามีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงาน ประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ หากได้รับคําสั่งให้ไปปฏิบัติราชการนอกสํานักงานเกิน 15 วัน

 

  •  กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ 

กองทุนสำหรับที่เป็นหลักประกันชีวิตของข้าราชการในวัยเกษียณ โดยมีการจ่ายบําเหน็จบํานาญ และให้ผลประโยชน์ ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ

รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์ของ สมาชิก จัดสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิกโดยกองทุนจะนําเงินไปลงทุนเพื่อหา ผลประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สมาชิก ซึ่งอัตราบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับจะคำนวณตามขั้นรายได้ และอายุการทำงาน

 

  •  ประโยชน์เกื้อกูล 

ประโยชน์เกื้อกูล คือ ค่าตอบแทนที่ทางราชการจัดให้แก่ข้าราชการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผล ได้แก่

- ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
- ค่าเช่าบ้าน
- เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ
- รถราชการ
- โทรศัพท์ของทางราชการที่อนุมัติให้ใช้เป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลในข้างต้น เป็นเพียงภาพรวมในฐานะข้าราชการเท่านั้น ในแต่ละหน่วยงานหรือระดับงานอาจรายละเอียดแตกต่างกันออกไป 

ที่มา: สำนักงาน ก.พ.