จับตา วิปฯ เคาะ "ร่างแก้รธน." ฉบับประชาชน เข้ารัฐสภา 9พ.ย.

จับตา วิปฯ เคาะ "ร่างแก้รธน." ฉบับประชาชน เข้ารัฐสภา 9พ.ย.

"นพ.สุกิจ" เผย ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ภาคประชาชน ปิดรับความเห็น เตรียมประมวลเนื้อหาเสนอให้วิปฯ พิจารณา เคาะวันที่เหมาะสม พบรายละเอียดการแสดงความเห็น ต้องการทำประชาพิจารณ์ ปมสภาฯเดี่ยว-คุณสมบัตินายกฯ ก่อน

         นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการนำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยภาคประชาชน นำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1.35แสนคน เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ว่า ในขั้นตอนหลังจากที่เปิดรับฟังความเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 5 ตุลาคม 2564 แล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะประมวลความคิดเห็นและจัดทำรายละเอียดเพื่อประกอบการนำเสนอต่อสภาฯ ทั้งนี้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา จะเชิญตัวแทนของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป รัฐบาล) และวิปรัฐบาลหารือถึงการเปิดสมัยประชุม วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายนนี้ และเบื้องต้นจะนัดประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างในวาระ

 

 

          นพ.สุกิจ กล่าวด้วยว่า ส่วนจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน เข้าสู่การพิจารณาวันที่ 9 พฤศจิกายน หรือไม่นั้น ต้องรอการพิจารณาในกระบวนการให้แล้วเสร็จ ทั้งการประมวลผลการรับฟังความเห็น ที่มีผู้แสดงความเห็นรวม 185 ความคิดเห็น และการวิเคราะห์รายละเอียด หากแล้วเสร็จอาจนำเข้าสู่การหารือของวิปทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อกำหนดวันพิจารณาอีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้าพิจารณาให้ได้ตามกระบวนการ.

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประมวลผลความเห็นใน 6 ประเด็น ของเนื้อหาที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ที่มีผู้ร่วมแสดงความเห็น 185 ความเห็น พบว่ามีทั้งความคิดเห็นที่สนับสนุน และไม่สนับสนุนอย่างหลากหลาย อย่างไรก็ดีในการรับฟังความเห็นส่วนของข้อเสนอแนะเพิ่มเติมนั้น พบประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ  ประเด็นสภาเดี่ยว เห็นว่าควรใช้การออกเสียงประชามติตัดสิน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและกระทบต่อประโยชน์ประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งลดความขัดแย้งทางความคิด จึงควรรับฟังด้วยเหตุผลแทนการชุมนุม นอกจากนั้นยังมีผู้เสนอให้ทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้พบว่ามีผู้สนับสนุนให้มี 2 สภา แต่ควรกำหนดที่มาของวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งหรือมาจากตัวแทนประชาชนที่แท้จริง

 

         ประเด็นที่มา อำนาจ การตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ มีความเห็นประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนได้ นอกจากนั้นเห็นว่าการสรรหาองค์กรอิสระควรให้ ส.ส.ดำเนินการและกำหนดขั้นตอนที่โปร่งใส

 

         ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอว่า ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้ความรู้เรื่องการเมืองการปกครองเป็นพื้นฐานให้ประชาชนตัดสินใจ และขอความเห็นหรือทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้เกิดการพิจารณาที่รรอบด้านและคาดหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดในอนาคต ไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมือง.