ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

พระระเบียงทางทิศเหนือของพระอุโบสถ ภายในวัดพระรามเก้าราชวรวิหาร จารึกภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังศิลปะไทยร่วมสมัย เผยแพร่พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับวันจะรุดหน้าเตรียมเปิดให้ประชาชนเข้าชมอีกไม่นานนี้

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชวินัยสุนทร (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เผยถึงโครงการสร้างพระระเบียงดังกล่าว โดยนำแนวคิดจากพุทธรัตนสถาน พระอุโบสถภายในพระบรมมหาราชวังมาเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะแนวเสมือนจริง

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

"แรกเริ่มท่านอาวุธ (ศาสตราภิชานพลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ) เป็นหัวหน้าโครงการจัดสร้างภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง พระระเบียงวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้แทนมูลนิธิชัยพัฒนา แล้วก็มีตัวแทนจากสำนักงานกปร. (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) กรมศิลปากร และอื่นๆ เข้าร่วมกันหารือถึงการสร้างเป็นงานศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9  

จากนั้นก็เริ่มสำรวจพื้นที่ ซึ่งบริเวณพระระเบียงวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นพื้นที่เหมาะสม เมื่อนำรายชื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีมากมายราว 4,000 กว่าโครงการ คัดเลือกเหลือเพียง 65 โครงการเพื่อเขียนบนกำแพงโดยเน้นภาพวาดเสมือนจริงจากเหตุการณ์จริง ลงรายละเอียดที่คนเห็นแล้วทราบทันที ว่าบุคคลในภาพนี้คือใคร 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ระหว่างที่โครงการดำเนินการในปี พ.ศ.2549 เรื่อยมา กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต จึงเว้นระยะไปช่วงหนึ่งจากนั้น ก็เริ่มลงมือกันอีกครั้ง แต่ท่านอาวุธ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการเสียชีวิต งานจึงส่งมอบให้อาจารย์มณเฑียร (มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร) เข้ามาดูแลการออกแบบและควบคุมการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแทน" 

เมื่อการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมแห่งยุคสมัย ส่งต่อมายังผู้รับผิดชอบคนใหม่ ภาพเขียนก่อตัวเป็นรูปร่าง พระราชวินัยสุนทร เผยรายละเอียดโครงการก่อสร้างพระระเบียงวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก โดยลำดับโครงเรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนัง 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ส่วนแรก ประสูติกาล พระราชประวัติ พระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 7 ตอน โดยลำดับเหตุการณ์แห่งรัชสมัย นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาต์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมมีพระปฐมบรมราชโองการ ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนัลคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีกาญจนภิเษกและงานฉลองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปีพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

“งานส่วนนี้ นับว่ามีรายละเอียดและขั้นตอนในการวาดซับซ้อนมาก จะว่าไปถือเป็นไฮไลต์สำคัญทีเดียว” พระราชวินัยสุนทรกล่าวในระหว่างนำ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ชมภาพจิตรกรรม ตรงกับช่วงเวลาแสงอาทิตย์สะท้อนเงากระทบกับสีทองบนพื้นผิว ฉายให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีสำคัญ

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ส่วนงานพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกเรื่องราวถัดมา สะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกร รวมทั้งสิ้น 58 ตอน แบ่งพื้นที่เป็นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา อาทิ โรงสีข้าว โรงบดแกลบ โรงหล่อเทียนหลวง สาหร่ายเกลียวทอง โรงนมผงและโคนมสวนจิตรลดา ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ การเพาะเลี้ยงปลานิล นาข้าวทดลอง ป่าสาธิต กังหันลม การเลี้ยงขยายพันธ์ปลาหมอเทศ จัดทำก๊าซชีวภาพ โรงกลั่นแอลกอฮอล์ 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ทรงนำยาวัณโรคขนานใหม่มาเพื่อพระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุขและพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์ สำหรับใช้ในการผลิตวัคซีน บีซีจี ป้องกันวัณโรค ซึ่งทุกตอนของภาพเขียนจะใช้เทคนิคการวาดแสดงออกในมุมที่เรียกว่า Bird's Eye  View นำไปสู่การวางรูปทรงของเรื่องราวแบบซ้ายไปขวา เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงเนื้อหา อีกทั้งทิวทัศน์ ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ต้นไม้ แม่น้ำลำธาร นำมาใช้เป็นเส้นแบ่งเรื่องราวอย่างลงตัว 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เนื้อหาต่อมาคือโครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ มูลนิธิราชประชาสมาสัย การบริหารจัดการน้ำท่วม โครงการแก้มลิง โครงการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ มูลนิธิพระดาบส โครงการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โครงการบำบัดน้ำเสีย โครงการยกระดับลอยฟ้าบรมราชชนนี ตามพระราชดำริ โครงการสะพานพระราม 8 ตามพระราชดำริ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานกปร. วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ร้าน Pat Pat

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ด้วยพระวิริยะอุตสาหะของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังก่อเกิดโครงการในพื้นที่ภาคเหนือ ​​ได้แก่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยห้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โครงการระบบกักน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ โครงการแควน้อยลำรุงแดน จ.พิษณุโลก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา 

มูลนิธิโครงการหลวง (สถานีเกษตรหลวง การปลูกป่า อนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร การส่งเสริมการผลิต ผลิตภัณฑ์โครงการหลวง พืชเมืองหนาว) สถานีพัฒนาที่ดินและน้ำ การอนุรักษ์ดิน (การปลูกหญ้าแฝก การแกล้งดิน การปลูกพืชหมุนเวียนพืชตระกูลถั่ว) จ.เชียงใหม่ 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

แม้แต่ดินแดนแห่งภาคอีสานเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นที่มาของโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการศูนย์พัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร จ.นครพนม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ ห้วยางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.มุกดาหาร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำละยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาฬสินธุ์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน - ห้วยซั้ว(หลัก 22) เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

รวมทั้ง โครงการในพื้นที่กลาง ได้แก่ โครงการศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา โครงการขยายผลทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ บริเวณรอบพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรี โครงการชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี โครงการเขื่อนขุนด่านชัยปราการชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครนายก

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมแพร่ภาพครั้งแรกโรงเรียนวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เป็นโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

จากนั้น ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก พาผู้ชมมาถึง โครงการในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ โครงการศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สหกรณ์โคนมอ่าวลึกจำกัด จ.กระบี่ โครงการระบายน้ำบาเจาะ-ไม้แก่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราชจ.พัทลุง จ.สงขลา โครงการฝนหลวง (ปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาสและสุดท้ายเรื่องราวมาถึงตอนที่มีชื่อว่า ชัยชนะของการพัฒนา เป็นการสรุปพระราชกรณียกิจนานับประการ ที่มีความยาวบนพื้นผนัง 50.23 เมตร ขนาดสูง 2.20 เมตร  ที่พระราชวินัยสุนทร กล่าวว่า เร็วๆ คนไทยจะได้เห็นผลงานภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงสำเร็จลุล่วง  

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

"หลังจากผ่านขั้นตอนการลงพื้นผิว ขยายแบบร่าง ลงสีพื้น รูปทรงต่างๆ โดยเทียบกับภาพถ่ายเหตุการณ์จริง ความคืบหน้าของงานเขียนภาพจิตรกรรมพระระเบียงทำไปได้ 85% เหลืองานเขียนเก็บรายละเอียดสี รูปทรงส่วนต่างๆ เช่น ป้ายชื่อสถานที่ ภาพต้นไม้ ลงสี ตัดเส้น ให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งการทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีอุปสรรคบ้าง ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหลายรอบ ประกอบกับการทำงานของช่างเขียนภาพ มีการติดตั้งสแลนด์บังแดดบังฝน ส่งผลให้อากาศไม่ถ่ายเทนัก พอโควิดระบาดรอบแรกทุกคนตื่นกลัวกันไปหมด ทำให้งานล่าช้าออกไป แล้วก็เกิดโรคระบาดระลอกสอง งานก็ขาดช่วงขาดตอน เพราะทางวัดคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพของช่างเขียนภาพทุกคน ซึ่งไม่มีใครติดโควิด  

อีกราวๆ เดือนครึ่ง คิดว่าภาพเขียนน่าจะเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดด้วย ว่าจะรุนแรงอีกมั้ย พอภาพเขียนแล้วเสร็จ มาถึงงานปรับภูมิทัศน์รอบพระระเบียง ทำสีฝ้าเพดานใหม่ งานปูพื้น และติดกระจกบานเฟี้ยม เพื่อป้องกัน รักษาภาพให้คงถาวร นอกจากนี้มีโครงการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียง รวบรวมการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งขณะนี้เราเริ่มดำเนินแล้ว

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราเห็นในงานจิตรกรรมฝาผนังนี้ ทรงดูแลพสกนิกรเหมือนพ่อดูแลลูก พระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล มองอะไรไว้ล่วงหน้า บางทีเราคาดไม่ถึง พระองค์ท่านทรงเป็นมหาราช แปลว่าทรงเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่ ประเทศไทยโชคดีที่มีพระองค์ท่านผู้ทรงเป็นผู้ให้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการทรงงาน

ในด้านพระพุทธศาสนา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ ทรงมีจิตใจลึกซึ้งพระศาสนา เสด็จพระราชดำเนินไปสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ พระปฏิบัติดีพระปฏิบัติชอบทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อทรงศึกษาแนวการปฏิบัติธรรม ถือว่าศาสนาพุทธเกิดขึ้นและยั่งยืนในแผ่นดินไทยด้วยพระองค์ท่าน 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวพุทธ ทรงเป็นผู้ค้ำจุนศาสนา แม้แต่พระราชโอรส พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพาเข้าวัดตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้แต่วัดวาอารามที่รัชกาลก่อนๆ ทรงสร้างวัดไว้ชำรุดทรุดโทรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงร่วมกันทำนุบำรุงพระศาสนาสืบต่อมา

รวมทั้งวัดแห่งนี้ พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำริภายหลังจากเกิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทรงเยี่ยมทุกข์สุขประชาชน เสด็จฯ มาถึงบริเวณพระราม 9 เมื่อก่อนถนนยังไม่ตัดผ่าน รถราเข้าไม่ถึงวัด หน้าฝนมีน้ำขังเจิงนอง ชาวบ้านพากันไปเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ กราบบังคมทูลว่า อยากให้มีวัดแถวนี้เพราะไปวัดแต่ละครั้งต้องนั่งเรือไปไกลเหลือเกิน  

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ กลับไปไม่นานนัก พื้นที่บริเวณนี้ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น พอพ้นไปอีกปีเศษ คุณจวงจันทร์ สิงหเสนี กราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินสร้างวัดและโรงเรียน ต่อมา ท่านอาวุธ(ศาสตราภิชาน พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น) เป็นผู้ออกแบบวัด เดิมทีออกแบบให้มีลักษณะคล้ายวัดเบญจมบพิตร เมื่อนำแบบร่างเพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อมีพระราชวินิจฉัย 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

เมื่อทอดพระเนตรแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งว่า การสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกให้ยึดหลักประหยัด เรียบง่าย มีกุฏฺิพระ โบสถ์  โรงครัว พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ไม่หรูหรา อีกทั้ง พระราชทานพระราชทรัพย์ในการสร้างวัดแห่งนี้และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯแทนพระองค์ในพิธีฝังลูกนิมิตร โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร(พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯแทนพระองค์ ในพิธีถวายและยกฉัตรพระประธาน บรรจุพระบรมสารีริกธตุบนพระเศียรพระประธานในพระอุโบสถ 

อาตมา เป็นหนึ่งในพระสงฆ์จำนวน 6 รูปที่ย้ายมาจากวัดอื่นเพื่อมาจำพรรษาที่นี่ ยังจำวันนั้นได้ดีว่า นั่งรถขบวนแห่เข้ามายังวัดแห่งนี้ สถานที่ที่เป็นศูนย์รวมใจของทุกคน อีกทั้งพระราชปณิธานและปรัชญาการทรงงานของพระองค์ท่าน ที่จารึกบนผนังพระระเบียง ยังได้ทำหน้าที่ก่อประโยชน์สูงสุดแก่พสกนิกรสืบไป" 

ศาสตร์แห่งพระราชาสู่งานจิตรกรรม วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

 

หมายเหตุ : วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมจัดสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนัง ผ่าน 3 ช่องทางการทำบุญ ผ่านตู้รับบริจาค โครงการภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย เลขบัญชี 059-8-14733-7 บริจาคผ่านระบบ E-donation โดยสแกน QR code