“วิรไท” ชี้ปัญหา ”รัฐราชการ-ความเหลื่อมล้ำ” กับดักอนาคตขีดแข่งขันประเทศ

“วิรไท” ชี้ปัญหา ”รัฐราชการ-ความเหลื่อมล้ำ” กับดักอนาคตขีดแข่งขันประเทศ

“วิรไท สันติประภพ”อดีตผู้ว่าธปท.ชี้ 2 ปัญหาเชิงโครงสร้าง”ระบบรัฐราชการ-ความเหลื่อมล้ำ”จุดอันตรายต่ออนาคตประเทศ แนะเร่งแก้ไขก่อนกระทบขีดความสามารถแข่งขันและความเสี่ยงด้านการคลัง

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้มุมมองต่อปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่ถือเป็น "Tipping points" สำคัญหากยังปล่อยให้ก้าวผ่าน จะเป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นั่นคือ 1.ปัญหาด้านระบบราชการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีกฎกติกาที่ล้าสมัยไม่สามารถส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งได้ และ 2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะสร้างความเสี่ยงสำคัญ คือ ความเสี่ยงด้านการคลัง

“ที่อยากจะชวนคิด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่เท่าทันกับความเสี่ยงจากสภาวะแวดล้อม ในศัพท์ที่สำคัญกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ คือ Tipping points คือ สถานการณ์ที่ค่อยๆเปลี่ยน เมื่อถึงจุดหนึ่งพลังที่สะสม จะทำให้การเปลี่ยนแปลงช่วงต่อไปเกิดขึ้นรุนแรง รวดเร็วกว่าเดิมมาก และ อาจจะไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะแบบเดิมได้ ตรงนั้น คือ ที่ต้องระวัง และต้องไม่ปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องก้าวผ่านจุดดังกล่าว”

นอกจากนี้ ในภาพใหญ่ของ Tipping points นอกเหนือจาก 2 ประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร ซึ่งเราพูดถึงสังคมสูงอายุมาเป็นสิบปี แต่ไม่มีอะไรที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเรื่องวัยแรงงานเริ่มลดลง และ จำนวนประชากรก็มีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งจะโยงไปยังเรื่องความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ขนาดเศรษฐกิจไทย ความน่าสนใจของตลาดไทย จนถึงโครงสร้างสวัสดิการต่างๆ

ยกตัวอย่าง เรื่องประกันสังคม ซึ่งเป็นการเอาเงินในวัยทำงานใส่เข้ามาเพื่อดูแลคนในรุ่นก่อนหน้า แต่โครงสร้างนี้สร้างขึ้นมาตอนที่เราคิดว่าประชากรจะเพิ่ม แต่ในอนาคตประชากรจะลดลง จะมีผลข้างเคียงหลายเรื่อง เมื่อเราปล่อยให้สถานการณ์หลายเรื่องก้าวผ่านTipping Points จะเกิด Domino effect ได้กับหลายเรื่อง

 

กฎหมายล้าสมัยลดความเข้มแข็งเอกชน

เขาขยายความสำหรับ Tipping Points ในระบบราชการว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีขนาดใหญ่ต่อเนื่องทั้งระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่กฎกติกาก็ส่งผลให้อำนาจรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ขนาดของรัฐไทยที่ใหญ่ขึ้นนั้นสอดคล้องกับสังคมและเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ และ มีความเสี่ยงอะไรในอนาคต เป็นปัญหาหรือพันธนาการอะไรบ้างหรือไม่ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปรับตัวให้เท่าทันกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ

ที่เห็นได้ชัดคน คือ กฎหมายที่ล้าสมัย การทำงานหน่วยงานราชการที่ใหญ่ขึ้นก็แตกออกเป็นกล่องๆ แต่ละคนก็คิดในกล่องตัวเอง เรื่องที่ต้องมีการประสานทำงานด้วยกันก็จะยากคน เรื่องของระบบราชการที่หัวโต ตำแหน่งต่างๆที่เพิ่มขึ้นจะเป็นระดับราชการชั้นผู้ใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงจะยาก ทิศทางที่คาดหวังปฏิรูประบบราชการ การปรับระบบให้เล็กลง การทำกติกาให้ทันสมัยมากขึ้น จะเกิดขึ้นยาก ถ้าระบบราชการขยายใหญ่แบบนี้เรื่อยๆ

“กรณีการจัดการแก้ระบาดโควิด-19 ทำให้ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างราชการเห็นได้ชัด ถ้ามองระยะยาวจะเป็นปัญหาด้านภาระการคลังด้วย เมื่อทุกคนพยายามรักษาตำแหน่งเก้าอี้กรอบอำนาจของตัวเอง ฉะนั้น การจัดการระบบราชการโดยรวม จะเป็นเรื่องสำคัญต้องไม่ปล่อยให้ผ่านTipping points”

โควิดหนุนปัญหาเหลื่อมล้ำสังคมสูง

ส่วน Tipping points ที่เป็นโจทก์ใหญ่ที่ต้องระวังอีกด้าน คือ ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถ่างมากขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 นักเศรษฐศาสตร์ระบุ การฟื้นตัวจะเป็นแบบ คือ คนตัวใหญ่ร่ำรวยได้ประโยชน์มากขึ้น มีโอกาสได้การฟื้นตัวเร็ว และสามารถแข่งขันดี เข้าถึงเทคโนโลยีดี มีอำนาจตลาดสูง เพราะคนตัวเล็ก ธุรกิจเอสเอ็มอี ถูกกระแทกแรงมากจากโควิด-19

ปฏิรูประบบราชการแนะเอกชนร่วมบริหาร

วิรไทเสนอแนะให้เร่งปฏิรูประบบราชการ เพื่อตัดตอนปัญหาTipping pointsที่จะกระทบขีดแข่งขันประเทศใน 4 ด้านสำคัญ คือ 1.ทบทวนหน้าที่ของภาครัฐ โดยต้องตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องทำเอง ถ้ามีอะไรที่คนอื่นทำได้ หรือเก่งกว่า ก็ต้องให้เขามาทำ โดยบทบาทภาครัฐ คือ การกำกับการออกนโยบายทำกรอบให้ชัดว่า เราจะเดินไปอย่างไร และทำหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบ

2.การปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย โดยกฎหมายได้ให้น้ำหนักเรื่องการตรวจสอบมากกว่าการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เช่น พ.ร.บ.การค้าข้าวที่ออกมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และอีกหลายฉบับที่เอกชนเห็นว่า ควรยกเลิก และเห็นว่า การออกจากวิกฤตโควิด-19 นั้น กฎหมายต้องเอื้อให้เอกชนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

3.ภาครัฐต้องใช้ดิจิตอลเฟิร์ส เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทุกอย่างที่ราชการจะทำ ต้องตั้งคำถามว่า มีช่องทางดิจิตอลไหม 4.เรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งจำเป็นมาก เพราะการแก้ปัญหาประเทศไม่ว่า เศรษฐกิจและสังคม จะเป็นกรอบแบบจากส่วนกลางสั่งลงไปไม่ได้ ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาจากล่างขึ้นบน จะเห็นชัดในสถานการณ์โควิด-19 หลายชุมชนเขาสามารถมีกลไกเข้มแข็งระดับชุมชนป้องกันการระบาดหรือการดูแลผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพ

 

เพิ่มทักษะแรงงานแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ จะต้องแก้ไขในเรื่องของแรงงานเป็นหลัก เช่น 1.สร้างงานต่อเนื่องที่สอดคล้องกับโอกาสธุรกิจของโลกอนาคต รัฐต้องคิดจ้างงานคนเป็นหลักล้านคน แต่ภาครัฐไม่ควรจ้างมาเป็นลูกจ้าง ทำให้ภาครัฐใหญ่ขึ้นอีก 2.การพัฒนาทักษะใหม่ เพราะทักษะทำงานเปลี่ยนไป 3.สนับสนุนเอสเอ็มอีไม่ให้ถูกเอาเปรียบทางการค้า

4.การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้คนระดับล่างมีกันชนรับแรงกระแทกต่างๆ เช่น ระบบเตือนภัย ระบบประกัน รวมถึง สวัสดิการภาครัฐ และ5.โอกาสเข้าถึงการศึกษา ต้องทำให้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือกลไกยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมตัวเองได้