“ปภ.”จัดแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม 76 จว.เตรียม จนท.-เครื่องจักรติดตามใกล้ชิด

“ปภ.”จัดแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม 76 จว.เตรียม จนท.-เครื่องจักรติดตามใกล้ชิด

รองอธิบดี “ปภ.” แถลงภารกิจจัดการ “น้ำท่วม” จัดแผนเผชิญเหตุอุทกภัย 76 จว.-ซักซ้อมปฏิบัติงานตามแผน เตรียมพร้อม จนท.-เครื่องจักร ประจำพื้นที่เสี่ยง ให้ความช่วยเหลือทันท่วงที เฝ้าติดตามใกล้ชิด “น้ำแล้ง” จัดเครื่องสูบ-รถบรรทุกน้ำ ช่วยเหลือประชาชนแล้ว

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดี ปภ. ในฐานะโฆษก ปภ. แถลงภารกิจการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ประเด็นบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง ของปภ. นั้น ได้ประสานการปฏิบัติร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ดังนี้

1. เรื่องน้ำท่วม มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และซักซ้อมการปฏิบัติงานตามแผนเชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการสำรวจพื้นที่อุทกภัยที่มีความเสี่ยง 76 จังหวัด เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ รวมถึงเครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ รถยกสูง เรือ เป็นต้น ประจำในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที และเป็นไปตาม 10 มาตรการรับมืออุทกภัยตามนโยบายของรัฐบาล

2.เรื่องการติดตามเฝ้าระวัง ปภ.มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ เพื่อประสานการทำงานร่วมกับคณะทำงานติดตามสถานการณ์แต่ละจังหวัด เพื่อทำการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นำข้อมูลหน่วยงานทางวิชาการ ประกอบวางแผนจัดการน้ำอย่างเหมาะสม

นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องป้องกันและลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยนั้น ศูนย์ ปภ.เขต ประจำทั่วทุกภาคของประเทศ มีการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด จัดกำลังพล และเครื่องจักรกลสาธารณภัย กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เปิดทางน้ำ และขุดลอกแหล่งน้ำ รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ใช้หลักการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติอาศัยชุมชนเป็นฐาน ให้ชุมชนรับมือสถานการณ์ได้ด้วยตนเองเบื้องต้น ก่อนความช่วยเหลือของราชการไปถึง

“การเผชิญเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ได้จัดชุดจากหน่วยราชการ ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าคลี่คลายสถานการณ์ ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อประกอบเลี้ยง และแจกจ่าย รวมถึงจัดถุงยังชีพตามวงรอบ จนกว่าสถานการณ์คลี่คลายกับสู่ภาวะปกติ” นายชัยณรงค์ กล่าว

รองอธิบดี ปภ. กล่าวอีกว่า ส่วน กรณีน้ำแล้ง มีการดำเนินการ 3 ประเด็น

1.สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ใช้กำหนดแผนช่วยเหลือเป็นระบบ เพื่อบูรณาการกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยง

2.ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ขุดลอกแหล่งน้ำ เจาะ ล้างบ่อบาดาล ติดเครื่องสูบน้ำ เพื่อส่งน้ำพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงจัดรถบรรทุกน้ำ เติมถังน้ำกลางประจำชุมชน แจกจ่ายน้ำต่อเนื่อง ให้ทุกครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอ

3.ร่วมกับจังหวัด สำรวจพื้นที่แหล่งน้ำจำเป็น ที่ต้องเพิ่มเติมปริมาณน้ำ กักเก็บ อุปโภคบริโภค การประกอบอาชีพ ความเหมาะสม ในการใช้เครื่องสูบส่งน้ำสมรรถนะสูงของ ปภ นำน้ำที่เพิ่มจากฤดูฝนไปกักเก็บในพื้นที่ชุมชนที่ประสบภัยแล้ง

“ทั้งหมดเป็นการจัดการสาธารณภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ที่ ปภ.ดำเนินการเป็นระบบตามลำดับอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” รองอธิบดี ปภ. กล่าว