สธ.ลงนามจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดสรองรับปี 65

สธ.ลงนามจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดสรองรับปี 65

สธ.ลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดสวงเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท ใช้ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในปี 65 ทยอยจัดส่งไตรมาสแรก ครบจบใน 3 ไตรมาส สามารถปรับเป็นวัคซีนรุ่น 2 ได้ เผยวัคซีนผลิตในไทยทั้งหมด สยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังผลิตเดือนละ 20 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า สำหรับปี 2565 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

      นายอนุทิน  กล่าวว่า สำหรับปี 2565 รัฐบาลมีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนต่าง ๆ เพื่อจัดหาวัคซีนฉีดเน้นเป็นเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีการจัดหาไว้อย่างเพียงพอ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 60 ล้านโดส  กรมควบคุมโรคจึงได้ลงนามสัญญา โดยจะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานภายในประเทศไทย และทยอยจัดส่งในไตรมาสแรกปี 2565 จำนวน 15 ล้านโดส ไตรมาสที่ 2 จำนวน 30 ล้านโดส และไตรมาสที่ 3 อีกจำนวน 15 ล้านโดส รวมมูลค่าราว  1.8 หมื่นล้านบาท  โดยจะใช้เป็นวัคซีนบูสเตอร์โดสให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนในปี 2564 ทั้งการฉีดครบ 2 เข็มหรือการฉีดเข็ม 3 แล้วก็ตาม

      “หวังว่าปีหน้าจะไม่ต้องฉีดวัคซีน 2 โดส จึงมั่นใจได้ว่าประชากรไทย 60 ล้านคน สำหรับ 60 ล้านโดส จึงมีความเพียงพอ และด้วยการผลิตที่มีโรงงานในประเทศไทย ก็จะทำให้ไม่ขาดแคลนวัคซีน มีวัคซีนแอสตร้าฯ เข้ามาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้ทุกคนตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป โดยทางผู้ผลิตให้คำยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยเป็นอันดับแรก” นายอนุทิน กล่าว

       นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคือสัญญานี้ กรมควบคุมโรคได้เจรจาได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ได้ราคาดีขึ้น ไม่ต้องมัดจำเงินจองวัคซีน โดยจะจ่ายเมื่อมีการส่งวัคซีนแล้ว นอกจากนั้น หากผู้ผลิตพัฒนาวัคซีนแอสตร้าฯ รุ่น 2 ที่ครบวงจนมากขึ้น ครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้าและอื่นๆ ได้สำเร็จ ก็สามารถเปลี่ยนคำสั่งซื้อเป็นรุ่น 2 ได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  ซึ่งในปีหน้าวัคซีนแอสตร้าฯ อาจจะพัฒนารองรับการฉีดตั้งแต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็อาจจะใช้ในส่วนนี้ อาจไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่มเติม  อย่างไรก็ตาม การเจรจาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปีหน้ายังมีการหารือกับหลายผู้ผลิต

กำลังผลิตวัคซีนแอสตร้าฯในไทย 20 ล้านโดส/เดือน      
      ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ในสัญญาใหม่ก็จะเป็นฐานผลิตในประเทศไทย โดยช่วงแรกบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ สามารถผลิตได้เดือนละราว 15 ล้านโดส แต่ด้วยความชำนาญที่มากขึ้นขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การส่งมอบต่อเดือนก็มากขึ้น จะเห็นได้ว่า เดือน ก.ย. ส่งมอบ 8 ล้านโดส เดือน ต.ค. คาดว่า 10 ล้านโดส และ พ.ย. ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้  ทั้งหมดเป็นความพยายามระหว่างแอสตร้าฯ และสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนหนึ่งเพราะแอสตร้าฯพยายามหาวัคซีนจากต่างประเทศส่งให้ประเทศอื่นแทน

         ผู้สื่อข่าวถามว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปี 2565 ใช้บูสเตอร์ในผู้ที่ฉีดวัคซีนทุกชนิดในปี 2564หรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ต้องใช้ข้อมูล งานวิจัยมาเสริมด้วย แต่เบื้องต้นแอสตร้าฯ  สามารถใช้บูสเตอร์ผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯได้ด้วย ซึ่งมีการศึกษาเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ ในผู้ที่รับแอสตร้าฯ ครบ 2เข็ม พบว่าได้ผลดีเช่นกัน ข้อมูลก็จะทยอยออกมา รวมถึงสูตรไขว้ด้วย เพราะทุกอย่างต้องใช้งานวิจัยมารองรับ ส่วนการบูสเตอร์แอสตร้าฯ หลังจากรับ mRNA มาแล้ว ก็ต้องดูข้อมูลวิชาการมารองรับด้วย

        ทั้งนี้ แอสตร้าฯ มีข้อดีในการกระตุ้นภูมิฯ ระดับเซลล์ ส่วน mRNA ใช้กระตุ้นภูมิฯ ระดับแอนติบอดีสูง ดังนั้น 2 ชนิดอาจสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน แต่ต้องติดตามงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ที่เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ การศึกษาบูสเตอร์วัคซีนต่างชนิดกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับปีหน้าก็กำลังเจรจาจัดหาวัคซีน mRNA และอื่นๆอยู่เช่นกัน

      “ในปีหน้าก็พยายามจัดหาวัคซีนชนิดอื่นด้วย จะไม่เอามาเยอะเกินไป แต่ไม่น้อยเกินไป  ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีผล มีงานวิจัยมากขึ้น ทำให้การจองวัคซีนไม่ได้อยู่บนความเสี่ยงมากเหมือนปีที่แล้ว ปีหน้าก็น่าจะมีวัคซีนที่เพียงพอ จำนวนมากพอสมควร และความต้องการใช้ไม่เยอะเหมือนปีนี้ เพราะจนถึงสิ้นปี 2564 จะมีผู้ได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว” นพ.นคร กล่าว