“สุพัฒนพงษ์” หารือ ผู้แทน OECD ดัน BCG เคลื่อนเศรษฐกิจ

“สุพัฒนพงษ์” หารือ ผู้แทน OECD ดัน BCG เคลื่อนเศรษฐกิจ

“สุพัฒนพงษ์” หารือ ผู้แทนโออีซีดีเผยไทยพร้อมผลักดัน BCG โมเดล เป็น ประเด็นสำคัญในกาการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคในปีหน้า พร้อมย้ำไทยจะดัน อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาหารและเกษตรแปรรูป การแพทย์ การขนส่งทางอากาศ โลจิสติกส์ เป็นโมเดลเติบโตอนาคต

รายงานข่าวจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเร็วๆนี้ได้ได้จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ "Country Programme" ระหว่างไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD ผ่านระบบประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ "The Concluding Event of the OECD Thailand Country Programme” 

ภายในงานได้มีการหารือกันระหว่าง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับ นาย Mathias Cormann เลขาธิการ OECD

นายสุพัฒนพงษ์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือกับ OECD อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ และการบรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนาในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในการดำเนินการ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน 

โดยรัฐบาลของไทยให้ความสำคัญกับ การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดล เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญที่ไทยจะเน้นย้ำในช่วงการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565

รวมทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางทางการขนส่ง และโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน และอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต การสร้างภูมิคุ้มกันและโอกาสแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ โดยประเด็นการพัฒนาภายใต้บริบทใหม่จะต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศที่มุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวด้วยว่าประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนโดยการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) ตลอดจนการผลักดัน การสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางสังคม การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจในระยะยาว การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและรองรับเศรษฐกิจ BCG

สำหรับในส่วนของความร่วมมือที่ไทยรวมกับ OECD ในการดำเนินโครงการของหน่วยงานฝ่ายไทย ภายใต้ 4 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ 1.ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance & Transparency) 2. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate & Competitiveness) ของประเทศประเทศไทย 4. ไทยแลนด์ 4.0 และ 4. การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth)

โดยความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเป็นความต่อเนื่องมาจากพ.ศ. 2561 ที่รัฐบาลไทยกับ OECD ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ Country Programme 

ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว โดยมี สศช. และ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นหน่วยงานหลักในกำกับดูแลภาพรวมการดำเนินงานโครงการภายใต้ Country Programme