'สุพัฒนพงษ์' มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพ คาดตัวเลขขอส่งเสริมลงทุนปีนี้แตะ 7 แสนล้านบาท

'สุพัฒนพงษ์' มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพ คาดตัวเลขขอส่งเสริมลงทุนปีนี้แตะ 7 แสนล้านบาท

"สุพัฒนพงษ์" โพสต์เฟซบุ๊ก ชูอภิปรายตอบคำถามฝ่ายค้านว่าเศรษฐกิจไทยไม่ล่มสลายแม้เจอโควิด-19 บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังทำกำไรได้กว่า 5.28 แสนล้านบาท คาดขอส่งเสริมลงทุนปีนี้แตะ 7 แสนล้านบาท

วันนี้ (3 ก.ย.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก@supattanapongp ว่า ผมได้ชี้แจงเรื่องเศรษฐกิจไทยไว้ในการประชุมสภาฯ อภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 2 กันยายน 64 เพื่อให้ทุกท่านได้มองเห็นว่าเศรษฐกิจของเรายังมีเสถียรภาพและเข้มแข็ง รัฐบาลให้ความห่วงใยและพร้อมดูแลประชาชนและผู้ประกอบการในทุกมิติอย่างครบถ้วน โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
เศรษฐกิจไทยไม่ได้ล้มเหลว ล้มละลาย ตกต่ำ อย่างที่ผู้อภิปรายกล่าวอ้างมีผู้อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบว่าเศรษฐกิจไทยล้มเหลว ล้มละลาย ตกต่ำ จมลง ทางรัฐบาลขอชี้แจงว่าอันที่จริงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไม่ได้พังและล้มเหลวอย่างที่ผู้อภิปรายได้กล่าวไว้ ข้อเท็จจริงคืออัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปี 64 คือ 2% ส่วนในไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 7.5% ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีเกิดขึ้น ส่วนเรื่องวัคซีน
ท่านนายกฯ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวแล้วว่าเราได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 32 โดสแล้ว และน่าจะถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีนครบ 50 ล้านโดสในเดือนตุลาคมตามที่ตั้งเป้าไว้ จำนวนวัคซีนก็ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งยังเริ่มมีการผ่อนคลายและอนุญาตให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมา
บริษัทปิดกิจการเยอะก็จริง แต่เปิดกิจการเพิ่มขึ้น 7-8 เท่ามีคำอภิปรายที่พูดถึงการล้มละลาย โรงงานปิด กิจการล้มไปจำนวนมาก ผมเองก็ติดตามเรื่องนี้ เข้าใจว่าผู้อภิปรายย่อมต้องมองข้อมูลในเชิงเพื่อที่จะนำมาอภิปราย ข้อมูลคือมีบริษัทที่ปิดกิจการราว 6,000 ราย แต่ไม่มีผู้ใดนำเสนอว่า 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 64 มีผู้เปิดกิจการ 46,700 ราย ซึ่งสูงกว่ากัน 7-8 เท่า การลงทุนไม่ได้น้อยลงไปมากอย่างที่กล่าวอ้าง ครึ่งปี 64 ตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 386,000 ล้านบาท
บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถือเป็นตัวแทนของระบบเศรษฐกิจไทย มีกำไรในช่วงครึ่งปี 64 อยู่ที่ 528,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 63 นับว่าสูงกว่าแน่นอน และสูงกว่าปี 62 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ด้วยซ้ำไป แต่ท่านผู้อภิปรายกล่าวว่าการลงทุนน้อยลงไปมากและมีความเป็นห่วง ผมเองได้ไปทำการบ้านเรื่องนี้เช่นกัน
ขอเรียนว่าอย่าได้ห่วงและอย่าเพิ่งรีบสรุปว่าเศรษฐกิจไทยขาดการลงทุน เพราะหากพิจารณาจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปี 64 พบว่าตัวเลขสูงถึง 386,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 63 ซึ่งมีแค่ 150,000 ล้านบาท และหากคูณสอง จะได้ตัวเลขกลมๆ ราว 700,000 ล้าน
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ปีนี้จะเป็นปีที่มีผู้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสูงสุดตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีความมั่นใจและสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย ก็เหลือแต่ว่าพวกเราจะช่วยกันทำอย่างไรในการสร้างความร่วมมือกัน ที่จะทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพทั้งเรื่องการดำเนินธุรกิจและการเมือง การลงทุนจริงๆ จะได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนที่สูงขึ้นเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ปัญหาหลุมรายได้ต้องใช้เวลา แต่รัฐบาลไม่เคยหยุดนิ่ง เน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อพลิกฟื้นและปิดหลุมรายได้นี้ให้เต็ม มีผู้อภิปรายเป็นกังวลเรื่องหลุมรายได้ โดยกล่าวว่าประเทศไทยมีหลุมรายได้ที่ในอดีตเคยพึ่งพาระบบเศรษฐกิจของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวถึง 20% ของจีดีพี และรายได้นั้นจะไม่ได้มาเร็วอย่างที่คิด
หลุมรายได้นี้อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก นั่นก็จริง เพราะเป็นเรื่องของระยะเวลา แต่สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลไม่เคยหยุดนิ่งและมีความเชื่ออยู่เสมอว่าความร่วมมือเท่านั้นสำคัญที่สุด และเป็นโอกาสที่เราจะพลิกฟื้นและปิดหลุมรายได้นี้ให้เต็ม
เรามีโครงการ Phuket Sandbox ที่ทำกันขึ้นมา โครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเปิดประเทศเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของประชาชนและทุกหน่วยงาน เป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 ที่หลายประเทศจับตามอง เราเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ผ่านมาถึงเดือนสิงหาคม ยอดนักท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยอดจองห้องพักสูงเกินกว่าที่ประเมินกันไว้ เราพร้อมจะก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นในฤดูท่องเที่ยว เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับคืนมา
รัฐบาลเตรียมพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งเก่าและใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก
รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นแต่การสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมเก่า เช่น ท่องเที่ยวและบริการ อาหารแปรรูป ขนส่ง ศูนย์กลางทางการแพทย์ ฯลฯ เท่านั้น ท่านนายกฯ ได้มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ 12 ประเภท เช่น ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมชูนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพโดยใช้โมเดล BCG ที่เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก โดยเฉพาะเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก การลดอุณหภูมิของโลก โดยเริ่มมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ที่จะทยอยเกิดขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ประเทศไทยยังประกาศนโยบายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ในอีก 30-40 ปีข้างหน้าด้วย
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดัง จัดอันดับว่าประเทศไทยยังคงมีความเสถียรภาพทางการเงินจากการที่ผู้อภิปรายบางท่านเป็นกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะล้มละลายหรือไม่ หากพิจารณาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านเสถียรภาพทางการเงินจากสถาบันจัดอันดับชื่อดัง พบว่าอันดับความน่าเชื่อถือของเรายังคงที่ ล่าสุด Moody's Investors Service ก็เพิ่งยืนยันอันดับเครดิตของเราที่ Baa1 ประเมินเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ หรือหากย้อนกลับไปเมื่อตอนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ทาง Fitch Ratings ก็ได้ยืนอันดับเหมือนเดิม
สำหรับทางธนาคารพาณิชย์ไทยก็มีทุนจดทะเบียนที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับการแก้ไขปัญหาหนี้ทุกประเภท ปี 2564 รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า 3 ระลอก ใช้เงินรวม 26,000 ล้านบาท ครอบคลุม 97% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
จากการที่มีผู้อภิปรายว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนอย่างครอบคลุม ผมขอชี้แจงว่าในปี 2564 รัฐบาลมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าถึง 3 ระลอก ใช้เงินรวมกัน 26,000 ล้านบาท ครอบคลุม 97% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ในขณะที่สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเราได้ลดมินิมัมชาร์จ คือการใช้ไฟฟ้าขั้นต่ำ จ่ายตามจริง ซึ่งจะยืนระยะไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ โดยลดค่าไฟจากค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว 3.8 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.6 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ราคาต้นทุนปฐมภูมิของพลังงานซึ่งก็คือน้ำมันขึ้นราคา แต่ว่ารัฐบาลยังดูแลภาคประชาชนเป็นอย่างดี
163066022272
รัฐบาลพยายามจะควบคุมและตรึงราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินจากที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับเรื่องราคาน้ำมันที่มีคนอยากให้ลดราคาลงมา ผมขอชี้แจงว่าสิ่งที่กระทรวงพลังงานทำมาตลอดตามนโยบายท่านนายกฯ คือการทยอยลดค่าใช้จ่ายให้มีการลดราคา ณ โรงกลั่นลงไป 30-40 สตางค์ ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน จาก 25 สตางค์เหลือ 10 สตางค์ ซึ่งช่วยเหลือบรรเทา ทำให้ราคาพลังงานและน้ำมันลดลงไปได้ เมื่อปีที่แล้วราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ 40 50 เหรียญต่อบาร์เรล และปีนี้ 60 70 เหรียญต่อบาร์เรล
ซึ่งหากนำราคาปีที่แล้วมาคำนวนกับสูตรของตลาดเสรี วันนี้ราคาจะต้องแพงกว่านี้มาก รัฐบาลจึงพยายามควบคุมและตรึงราคาน้ำมันไม่ให้เกินจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยให้เงินที่ช่วยเหลือรวมแล้ว 1,700 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งได้รวมถึงราคาก๊าซหุงต้มที่ประชาชนใช้ในครัวเรือน และพ่อค้าแม่ค้าใช้เป็นต้นทุนประกอบในการทำมาหากิน โดยรัฐบาลยืนราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลที่กล่าวมา ผมจึงอยากขอให้ทุกๆ ท่านเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจไทยว่า เรายังเข้มแข็งและรัฐบาลมีความห่วงใย ทั้งยังมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมดูแลประชาชนและผู้ประกอบการในทุกมิติอย่างครบถ้วนครับ