สินเชื่อรายย่อยพร้อมเดือด "ไฟแนนซ์"ยกการ์ดทุนใหญ่ชิงเค้ก

สินเชื่อรายย่อยพร้อมเดือด "ไฟแนนซ์"ยกการ์ดทุนใหญ่ชิงเค้ก

หลัง SCBX ทุนใหญ่จะลงมากินรวบในทุกตลาดที่มีโอกาสแม้จะมีการแข่งขันสูง ส่งยูนิตแรกเข้ามาชิงตลาดคือ " สินเชื่อรถยนต์-สินเชื่อเงินสด" ภายใต้ "AUTOX " ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีเจ้าตลาดเป็นเสือสนามที่แทบทุกรายมีเซกเมนต์ของตัวเองที่แข็งแกร่ง

การปรับของ SCB ให้กลุ่มสินเชื่อรายย่อยลงมามีขนาดเล็กลงเพื่อสะดวกต่อการวางกลยุทธ์ในแข่งขัน  ด้วยธุรกิจดังกล่าวในไทยแบงก์แทบจะกินตลาดในส่วนนี้น้อยมาก ด้วยกรอบการบริหารความเสี่ยงคลุมไว้แทบทุกด้านทำให้การปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงมากจึงทำได้ยากและกลายเป็นช่องโหว่งให้ธุรกิจไฟแนนซ์รายเล็กจนเติบโตกลายเป็นผู้เล่นหลักไปแล้ว

ไฟแนนซ์ 3 รายใหญ่ที่กินส่วนแบ่งตลาดไปมากที่สุด ประกอบไปด้วย บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล  จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ดำเนินธุรกิจมากกว่า 20 ปี ซึ่งเน้นสินเชื่อรายย่อยไปที่พอร์ตรถจักรยานยนต์มากที่สุด มีสาขาที่ให้บริการมากถึงเป็น 4,884  แห่ง

การขยับรับมือการแข่งขัน  MTC มีการเพิ่มทุนบริษัทย่อย “เมืองไทย ลิสซิ่ง” จาก 500 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท มาพร้อมกับการรุกธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่บริษัทพร้อมจะรุกตลาดจะเป็นตัวเร่งพอร์ตสินเชื่อให้กับ MTC ในปี 2564

โดยสามารถใช้ฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่แล้วและเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามา  ซึ่งเบื้องต้นมีการตั้งเป้าตัวเลขสินเชื่อในธุรกิจนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน  เพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท จะไปพร้อมกับการขยายสาขา 600 แห่ง เพื่อให้ตัวเลขสาขาอยู่ที่ 6,700 แห่งปี 2567   ท่ามกลางพันธมิตรใหม่ผ่านทางผู้ถือหุ้นใหญ่เข้าไปลงทุนในบริษัท เอ็กซ์ สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG

สินเชื่อรายย่อยพร้อมเดือด \"ไฟแนนซ์\"ยกการ์ดทุนใหญ่ชิงเค้ก

บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น  จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD  เป็นรายใหญ่จากจังหวัดเพรชบุรี มีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากการซื้อกิจการ บริษัท เงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนมาเป็น บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ปี 2560  สามารถดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 10 ล้านบาท  พร้อมกับรับฝากเงินจากประชาชนผ่าน BFIT  ส่วนศรีสวัสดิ์ กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ  บริการติดตามทวงหนี้ และปล่อยสินเชื่อเงินกู้มูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ SAWAD คือการมีพันธมิตรใหญ่อย่างธนาคารออมสินเข้ามาหนุนการปล่อยสินเชื่อ  การประกาศร่วมลงทุนกับบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE  ในบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอส ดับบลิว พี จำกัด (SWP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SAWAD ถือหุ้น 85 % เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA)

และ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด มหาชน หรือ TIDLOR  อยู่ในกลุ่มธนาคารกรุงศรี พึ่งเข้าตลาดหุ้นมาได้ไม่นานพร้อมเม็ดเงินที่ระดมทุนไป 33,105 ล้านบาท  ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ประมาณ  75-76% ของสินเชื่อทั้งหมด 50,000 กว่าล้านบาท  เป้าหมายในการระดมทุนครั้งนี้คือการขยายแพลตฟอร์มดิจิทัล และการรุกตลาดใหญ่อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ที่มีทั้งจำนวนคนมหาศาลและโอกาสในการใช้จ่าย

หรือแม้แต่รายเล็กในตลาดบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ที่มีธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นพอร์ตหลัก ประกาศตัวแล้วว่ายังมุ่งเน้นนำ AI มาช่วยสนับสนุนการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วกว่าปกติ และการเข้าสู่ธุรกิจ  ฟินเทคอย่างเต็มตัว  นอกเหนือจากพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์  

บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER  ที่แข็งแกร่งด้านฐานทุนมากขึ้นเมื่อมีกลุ่ม บีทีเอส เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใส่เม็ดเงินหมื่นล้านบาทเพื่อพลิกไปสู่ไฟแนนซ์ ดิจิทัล อีกราย

ขณะที่กลุ่มสินเชื่อเงินสด บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  KTC ประกาศตัวเข้าสู่ตลาดสินเชื่อรถยนต์ด้วย “สินเชื่อพี่เบิ้ม” ซึ่งถือว่าเป็นการประกาศรุกครั้งใหญ่ของ KTC  ยังไม่นับรวมกับคีย์แมนสำคัญ “ระเฑียร ศรีมงคล” ที่กระโดดไปนั่งบริหารธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ XPG  น่าจะมีทีเด็ดออกมาให้ได้เห็นกัน

นอกจากการปรับตัวดังกล่าวในกลุ่มไฟแนนซ์แล้ว ด้านสมรภูมิการแข่งขันไม่ได้แผ่วลงเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากการตัดราคาแข่งขันกันเมื่อแบงก์ชาติเข้ามาควบคุมเพดานดอกเบี้ย  กฎหมายตามทวงหนี้เข้มงวดมากขึ้น    รวมไปถึงความสามารถในการบริหารหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด

ดังนั้นหากจะเพิ่มผู้เล่นในตลาดมาอยู่ในสนามเดียวกัน  รายใหญ่มีความได้เปรียบอยู่ที่ฐานทุนที่ใหญ่และเทคโนโลยี ทำให้เกิดความหวั่นว่าผลกระทบจะเกิดการแข่งขันที่รุนแรง        แต่ด้านธุรกิจไฟแนนซ์รายเล็กก็ไม่น้อยหน้าเพราะพร้อมตั้งการ์ดสู้ในเซกเมนต์ตัวเองด้วยเช่นกัน