อธิบดีกรมปกครอง ย้ำ 878 อำเภอทั่วประเทศ ดูแลปชช.ป้องกันโควิด

อธิบดีกรมปกครอง ย้ำ 878 อำเภอทั่วประเทศ ดูแลปชช.ป้องกันโควิด

ธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมปกครอง ย้ำ 878 อำเภอทั่วประเทศ ดูแลปชช.ป้องกันโควิด

จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 มาตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสมที่มาจากกลุ่มหลักประกอบด้วย กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวัง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน และกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ มีมากกว่า 20,000 คนต่อวัน 

เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันมากกว่า 200 ราย และหลายครั้งขึ้นระดับนิวไฮ (new high) ทั้งนี้ หลายเหตุการณ์ที่ปรากฎสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียบุคคลในครอบครัวอย่างกะทันหัน  ภาพความผลัดพราก การจากลา หรือแม้แต่การทำหน้าที่ของบุคลากรด่านหน้าจนกลายเป็นผู้ป่วยเสียเองจะเห็นได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในทุกด้าน ทุกมิติ  

กรมการปกครอง มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่กระจายอยู่ทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน จนเห็นและเข้าใจถึงความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น ด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  จึงถือเป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญในการดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์ในระดับพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ
 

นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่าได้มอบเป็นนโยบายสำคัญในการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครองให้เป็นไปอย่างเคร่งครัดตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นหนึ่งในพลังสำคัญเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ด้วยถือเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนงานของกรมการปกครอง ภายใต้แนวคิด “หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ตามนโยบาย 10 Flagships to DOPA New Normal 2021 ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญในการเป็น“เรือธง” นำทาง คือ หนึ่ง การส่งเสริมสถาบันหลักของชาติ สอง การยกระดับงานบริการ และ สาม การสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยกรมการปกครองได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ 

นายธนาคม เผยต่อว่าโดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ กรมการปกครองได้เริ่มตั้งแต่การจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการปกครอง หรือ ศบค.ปค. ขึ้น   ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันและลดการแพร่ระบาด และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีแนวทางการทำงานใน 2  มิติ ทั้งเชิงนโยบายสำคัญ (Agenda) โดยการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อสั่งการของ ศบค. และ กระทรวงมหาดไทย เชิงภารกิจและพื้นที่ (Function & Area) โดยการอำนวยการ ประสานงาน และสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์ในพื้นที่ 

โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการปกครอง หรือ ศบค.ปค. ได้อำนวยการสนับสนุนบริหารจัดการสถานการณ์ เป็น 3 ส่วนหลัก  โดยส่วนที่หนึ่ง การบริหารจัดการสถานการณ์ เพื่อควบคุมการเดินทาง เคลื่อนย้ายของประชาชน (Mobility) โดยการเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเดินทางเข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย ได้แก่ การดูแลพื้นที่ชายแดนใน 128 อำเภอ 31 จังหวัด 23 ด่านทั่วประเทศ และช่องทางธรรมชาติต่างๆ  ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับกลไกระดับพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และสอดส่องดูแล จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ในพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด มิให้มีการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย  

“เราได้มีการตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัด ดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด จำนวน 1,319 ด่านตรวจทั่วประเทศ ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ และตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชนทุกคน โดยการบันทึกข้อมูลในระบบ “Thai QM 2021” (Thai Quarantine Monitor) เพื่อเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Base) ในการติดตาม เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลดังกล่าว ใช้ในการสอบสวนโรคในกรณีที่พบว่า         ผู้เดินทางดังกล่าวติดเชื้อ และใช้ในการประเมินสถานการณ์เป็นสำคัญ” 
        
อธิบดีกรมการปกครองกล่าวว่านอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติงาน และบริหารสถานการณ์ฯ ใน “พื้นที่ควบคุมสูงสุด”หรือ“พื้นที่ควบคุม” ในภารกิจของ “ศบค.มท.ส่วนหน้า” ด้วยกำลังพลของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตามแผนการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของ จังหวัดภูเก็ต (Phuket Tourism Sandbox) ด้วยการสนับสนุนกำลังพล รวมกับหน่วยงานพื้นที่ในการคัดกรองประชาชนและนักท่องเที่ยว มีการสนับสนุนมาตรการกักกันตัวผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศในสถานกักกันโรคแห่งรัฐและทางเลือก  และอำนวยความสะดวกในการรับผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาและเข้ากักกันสถานกักกันโรคท้องที่ในพื้นที่จังหวัด 
         
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบเล่นการพนัน เปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคตามที่กำหนด รวมทั้งโรงแรมที่พักให้เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการประชาชนเกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนรูปแบบใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรการ (New Normal) อย่างเคร่งครัด โดยเน้นหลักเกณฑ์ 5 ส่วนสำคัญ คือ (1) ก่อนเข้ารับบริการ (2) ขณะเข้ารับบริการ (3) สถานที่ให้บริการ (4) เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและ (5) การติดตามประเมินผลและกระตุ้นเตือนการใช้ชีวิตของผู้คนในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุค “ชีวิตวิถีใหม่”ภายใต้มาตรการ DMHTTA โดยใช้กลไกของหมู่บ้าน

นายธนาคม ย้ำด้วยว่าสำหรับส่วนที่สอง การบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยการสนับสนุนการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยการจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารบัตรประจำตัวของคนต่างด้าว 3  สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา)  มีการการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน และการขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน  

นอกจากนี้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โดยกระทรวงมหาดไทย    ได้ออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2563 สามารถช่วยเหลือ             ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ เฉลี่ยต่อปีคิดเป็นเงิน 31,354,200 บาท โดยพิจารณาจากจำนวนห้องพักของโรงแรม (ข้อมูล ณ กรกฏาคม 2564)

ขณะเดียวกันมีการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือการรับลงทะเบียนโครงการตามนโยบายของรัฐบาล “เราชนะ” สำหรับประชาชนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โดยการจัดชุดเคลื่อนที่ให้บริการเชิงรุกถึงครัวเรือน จำนวน 1,161,571 คน นอกจากนี้มีการจัดทำระบบตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชน (Check Card Status) เพื่อตรวจสอบข้อมูลสถานะบัตรประจำตัวประชาชนผ่านระบบเว็บเซอร์วิสแบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยดำเนินการตรวจสอบภาพใบหน้า ให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังรวมทั้งหมด 1,843,537 รายการ (ข้อมูล ณ กรกฏาคม 2564) พร้อมกำชับการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ โดยเฉพาะในกรณีมีผู้ป่วยเสียชีวิตในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอ หรือบุคคลซึ่งนายอำเภอมอบหมายจะต้องเข้าควบคุม และตรวจสอบพื้นที่ในเบื้องต้นด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งเร่งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อให้ผู้เสียชีวิตได้รับการจัดการตามขั้นตอนต่อไป

“ส่วนที่สาม เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านรายได้ของประชาชน จากการถูกเลิกจ้าง หรือมีรายได้ที่ลดลง ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในครัวเรือน ผ่านโครงการจ้างลูกจ้างเหมาบริการ "1 คน 1 ตำบล ร่วมใจ ต้านภัย COVID-19" และโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ดำเนินการจ้างงานประชาชนในทุกตำบล เพื่อเก็บข้อมูลในระดับหมู่บ้านเป็นฐานข้อมูลบูรณาการ (Village Big Data Base) สำหรับใช้วางแผนพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ และเป็นฐานข้อมูลในลักษณะเปิด (Opened-data system) ให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยดำเนินการจ้างงานตำบลละ 2 คน รวม 14,510 คน ระยะเวลาการจ้าง 12 เดือน”อธิบดีกรมการปกครองกล่าว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ยังคงวิกฤติ ถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนไทยที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง กรมการปกครอง  จึงขอเป็นหนึ่งพลังสำคัญของการทำหน้าที่และให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจแก่พี่น้องประชาชน ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ได้ร่วมกันก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แบบการ์ดไม่ตก ด้วยการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล D-M-H-T-T-A จนกว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติสุข