“ผ่อนคลาย บับเบิลแอนด์ซีล” ไม่เสี่ยงโรค-ไม่เสียหายเศรษฐกิจ.

“ผ่อนคลาย บับเบิลแอนด์ซีล”      ไม่เสี่ยงโรค-ไม่เสียหายเศรษฐกิจ.

การระบาดโรคโควิด -19 ในโรงงาน เป็นสถานการณ์ท้าทายความสามารถการผลิตของประเทศ ทั้งเพื่อการบริโภคภายในและการค้าระหว่างประเทศ จึงต้องระดมแนวทางเพื่อหาทางออกที่ไม่เสี่ยง และไม่เสียหายทั้งต่อสุขภาพคนและสุขภาพเศรษฐกิจ

เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบันหรือ กกร. ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วน ซึ่งภาคเอกชนเห็นด้วยกับภาครัฐที่เริ่มผ่อนคลายในธุรกิจมากขึ้น และหากสามารถเร่งจัดสรรฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงจะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสำคัญข้อหนึ่ง คือSupply chain ของภาคการผลิตในระบบ Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน

  บับเบิลแอนด์ซีล และ Factory Sandbox เป็นสองมาตรการที่ต้องการให้ภาคการผลิตเดินหน้าได้ภายใต้การควบคุมโรคหรือเรียกว่าเป็น “หลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่ภาครัฐสนับสนุนให้โรงงานนำไปปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินมาตรการต่างๆ เป็นความสมัครใจของแต่ละโรงงาน แต่แน่นอนว่าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วยตนเอง ทั้งการสร้าง โรงพยาบาลสนาม การเช่าโรงแรม หรือจัดที่พักในโรงงานเพื่อทำบับเบิลแอนด์ซีล การตรวจเชื้อด้วย ATK และ RT-PCR การจัดหาวัคซีนทางเลือกเพื่อแรงงาน ฯลฯ ซึ่งมีโรงงาน ไม่สักกี่แห่งที่แบกรับภาระนี้ได้ยาวนาน

 

“ผ่อนคลาย บับเบิลแอนด์ซีล”      ไม่เสี่ยงโรค-ไม่เสียหายเศรษฐกิจ.

ล่าสุด มีประกาศให้สำนักงานประกันสังคม เข้ามาช่วยรองรับค่าใช้จ่ายด้านค่าบริการทางการแพทย์ตรวจโควิด ด้วยวิธี RT- PCR ให้สถานประกอบการ หรือโรงงานที่เข้าร่วมในโครงการ Factory sandbox ใน 4 ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคส่วนยานยนต์ ภาคส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคส่วนอาหาร และภาคส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยนำร่องพื้นที่ 7 จังหวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่ง และจะช่วยลดภาระของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการต่างๆจะให้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ก็มีอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น ระบบบับเบิลแอนด์ซีล ที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายของโรงงานจะสูงมากแล้ว ยังพบความเครียดของแรงงานที่ต้องห่างจากครอบครัวเป็นเวลานาน กระทบขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้บางส่วนลาออกเพื่อย้ายไปยังโรงงานอื่นที่ไม่ทำระบบบับเบิลแอนด์ซีล ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แรงงานทุกคนจะถูกกักบริเวณเช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน เมื่อเข้าสู่มาตรการนี้จนครบตามจำนวนวันแล้ว เช่น 14 หรือ 28 วัน สมควรผ่อนคลายมาตรการ และหันมาใช้แนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้นหรือไม่

เหนืออื่นใด “วัคซีน” เป็นสิ่งจำเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ดังนั้น รัฐควรจัดสรรและฉีดวัคซีนแรงงานให้ได้มากกว่า 85% ของพนักงานทั้งหมดในแต่ละโรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับที่ กกร. ย้ำว่าภาคการผลิตต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน เมื่อป้องกันการระบาดในกลุ่มแรงงานด้วยวัคซีนแล้ว ยังคงต้องมีแนวทางที่ดำเนินต่อควบคู่กันไปภายในโรงงานด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ยกตัวอย่างแนวทางผ่อนคลายบับเบิลแอนด์ซีลของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ที่ดำเนินมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 50 วัน และทำการฉีดวัคซีนให้พนักงานแล้ว 88.95% ทั้งยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากว่า 10 วัน โดยแรงงานที่ติดเชื้อหายป่วยเกือบทั้งหมด คงเหลือรักษาตัวอยู่เพียง 5 ราย 

โรงงานดังกล่าว ได้ทำแผนนำเสนอสำหรับการผ่อนคลายบับเบิลแอนด์ซีลได้อย่างน่าสนใจ โดย กำหนดกลุ่มทำงาน (Bubble เฉพาะจุด และ Seal Route) แบ่งเป็น Small Modular แต่ละจุดให้เล็กที่สุด ป้องกันความเสี่ยงและลดการกระจายเชื้อ การกำหนดให้เช็คสุขภาพของพนักงานก่อนเข้าโรงงานและไลน์ผลิต โดยหัวหน้างานทุกพื้นที่

เพิ่มพื้นที่โรงอาหาร ลดความแออัด และกำหนดจำนวนผู้เข้าใช้ในแต่ละจุด รวมถึง ให้จำหน่ายอาหารแบบกล่องเท่านั้น ทำการเพิ่มเติมจำนวนห้องน้ำอีก 110 ห้อง จากเดิมที่มี 230 ห้อง โดยกำหนดจำนวนผู้เข้าใช้แต่ละจุด ทำการติดตั้งจุด Scan บัตรเข้า-ออกงานของพนักงาน เพิ่มเติมอีก 30 จุด จากเดิมที่มีจำนวน 33 จุด และปรับระบบระบายอากาศในพื้นที่ทำงาน

ขณะเดียวกันยังทำการเฝ้าระวังอย่างรัดกุม โดยกำหนดแผนสุ่มตรวจ ATK พนักงานแต่ละหน่วยงานทุกวัน ๆ ละ 20% ต่อสัปดาห์ (ประมาณ 320 คน) รวมทั้งกำหนด Swab หาเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ส่วนผลิต เป็นประจำทุกวัน หรือ 917 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีแผนการสุ่มตรวจผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงงาน เช่น แม่บ้าน แม่ครัว คนขายอาหาร และอื่นๆ ตลอดจนกลุ่มซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า ต้องตอบแบบสอบถาม Timeline และผล Swab ก่อนเข้าโรงงาน ความละเอียดของแผนนี้ ยังครอบคลุมไปถึงรถรับ-ส่งพนักงานที่มีการระบุที่นั่งบนรถแต่ละคัน และให้นั่งไม่เกินคันละ 8 คน มีการเว้นระยะห่างบริเวณทางเข้าไลน์ผลิต และทำการฆ่าเชื้อจุดเสี่ยงร่วมสัมผัสของรถรับ-ส่งทุกวัน ขณะเดียวกันก็มีแนวทางเฝ้าระวัง โดยสุ่ม Swab พนักงานขับรถและพื้นผิวรถด้วย

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติภายใต้การดำเนินการตาม 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) อย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วย Distancing-ระหว่างบุคคลอย่างน้อย 2 เมตร Mask Wearing -ตลอดเวลาเมื่ออยู่ 2 คนขึ้นไป Hand Washing-ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ Testing -และซักประวัติผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคน Reducing - ลดความหนาแน่นในพื้นที่ปฏิบัติงาน และ Cleaning – ทำความสะอาดพื้นที่ผิวสัมผัสร่วม

นอกจากนี้ยังรวมถึง 6 มาตรการเสริม ( SSET-CQ ) ที่ต้องเข้มข้นเช่นกัน นั่นคือ Self-Care ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด -Separate แยกทานอาหาร และนั่งห่าง 2 เมตรขึ้นไป -Eating กินอาหารปรุกสุกใหม่ -Thai Chana ลงทะเบียน ในทุกสถานที่ที่เดินทางไป -Check สำรวจตรวจสอบทุกคนที่เข้ามาติดต่อ -Quarantine 14 วันเมื่อไปสัมผัสกับผู้มีประวัติเสี่ยง 

การผ่อนคลายมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล หากทำได้ตามแนวทางนี้การเดินหน้าการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆจะสามารถดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม บนความมั่นใจว่าจะป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติได้ตามเป้าหมาย