จ่อ ลดเวลาเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ชง ศบค. ชุดใหญ่ 27 ก.ย.นี้

จ่อ ลดเวลาเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ชง ศบค. ชุดใหญ่ 27 ก.ย.นี้

เตรียมชง ลดเวลาเคอร์ฟิว เป็น 22.00 - 4.00 น. ในการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ 27 กันยายน 2564 และผ่อนคลาย 11 กิจกรรมให้ดำเนินการได้ เช็ครายละเอียดที่นี่

ในการประชุม ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค. วันที่ 27 กันยายน 2564 นี้มีประเด็นที่ต้องจับตาหลายประเด็น โดยเฉพาะการลดเวลาเคอร์ฟิว และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ 

โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาหลายประเด็น อย่าง การให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 กันยายน 2564 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

อ่านข่าว :  แย้มกิจการที่จะผ่อนคลายระยะต่อไป รอศบค.เคาะ 27 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังกำหนดให้เลื่อนเปิดเมือง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และเพชรบุรี (ชะอำ) จากเดิมวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เลื่อนวันออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในการประชุม ศบค. ชฺยุดใหญ่ในวันที่ 27 กันยายน 2564 ก็คือ จะมีการ เสนอให้ลดระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ ลดเวลาเคอร์ฟิว จากเดิม ตั้งแต่เวลา 21.00 น. จนถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ลดเหลือเป็น ตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

อีกทั้งยังมีรายงานว่า ยังจะเสนอมาตรการผ่อนคลาย 11 กิจการกิจกรรมให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข อาทิ สปา โรงภาพยนต์ ร้านอาหารเล่นดนตรี โรงเรียนกวดวิชา (ติวเตอร์) การแข่งขันกีฬา หรือ สนามกีฬา และพิพิธภัณฑ์ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะยังคงระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดต่อไป และประมาณสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทุก 14 วัน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค. จะมีการประชุมศบค.วันที่ 27 กันยายน 2564 นี้ และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 28 กันยายน 2564 นี้ต่อไป

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หรือ​ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 15 / 2564 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมในเวลา 10.30 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล หรือ วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยจะเริ่มด้วยเรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และรับรองรายงานการประชุมศบค.ครั้งที่ 14 / 2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อ โควิด-19 (ศปก.สธ.) จะรายงานสถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ, กระทรวงแรงงานรายงานเรื่องการปรับรายละเอียดของโครงการแฟ็คทอรี่แซนด์บ็อกซ์ Factory sandbox ระยะที่2 , กระทรวงพลังงานรายงานเรื่องการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการปฎิบัติตามคำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 12 / 2564 กรณีผู้เดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทางน้ำเพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียม

นอกจากนี้​ ศบค.จะพิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 14 โดยศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19​ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช.)  จะเป็นผู้เสนอ, การปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ที่เสนอโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อ โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขเสนอ, การปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร​ (การปรับลดระยะเวลาในการกักกัน การทำกิจกรรมในสถานที่กักกัน) และหลักเกณฑ์ แผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, แผนการให้บริการวัคซีน โควิด-19 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 และแผนการบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19 ปี 2565 เสนอโดยศปก.สธ.

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จะรายงานเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 รวมถึงรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของสำนักงาน และศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆ