คำนวณ ส.ส.ต้องเป็นไปตาม ม.91-คณะทำงานแก้ กม.ลูก“ปชป.”ถกนัดแรก-วางกรอบ 3 ปม

คำนวณ ส.ส.ต้องเป็นไปตาม ม.91-คณะทำงานแก้ กม.ลูก“ปชป.”ถกนัดแรก-วางกรอบ 3 ปม

คณะทำงานแก้ กม.ลูก “ปชป.” ถกนัดแรก! วางกรอบการทำงาน ปมคำนวณหลักเกณฑ์ “ส.ส.” ต้องเป็นไปตาม “รธน.” ม.91 ประสาน “กกต.” ช่วยดู คาดหลัง 26 ก.ย. จะมีความชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 24 ก.ย. 2564 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะมีการประชุมของคณะทำงานพิจารณาศึกษารวบรวมข้อมูลในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. รวมถึงยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. โดยมีนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานฯชุดดังกล่าว เป็นประธานในที่ประชุม

วันเดียวกัน นายราเมศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะทำงานฯชุดนี้เป็นครั้งแรกว่า ที่ประชุมได้วางกรอบเบื้องต้นเกี่ยวกับการยกร่างกฎหมายลูกอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ (ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.) ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ (ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง) รวมถึงอาจมีการขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ (ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น) ด้วย

นายราเมศ กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญที่ประชุมหารือกันในการยกร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.นั้น คือประเด็นการใช้หลักเกณฑ์คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก ส.ส.เขต โดยต้องเป็นไปตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยหลังจากนี้จะมีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาให้สอดคล้องกัน อาจแตกต่างกันในประเด็นปลีกย่อยได้ แต่หลักการต้องเป็นไปตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีวันนี้เป็นการประชุมคณะทำงานฯนัดแรก เพื่อวางกรอบการทำงานเท่านั้น หลังจากนี้จะให้คณะทำงานฯไปพิจารณารายละเอียดข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง โดยต้องรอหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ โดยนับจากที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่สาม เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เว้นว่างไว้ 15 วัน หรือจะครบกำหนดในวันที่ 26 ก.ย. 2564

นายราเมศ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่ประชุมมีการหารือประเด็นของการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็เช่นกันที่ดูจะขัดแย้งกับการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองแต่ปรากฏว่ากฎหมายได้บังคับให้มีการชำระค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาทหรือตลอดชีพปีละ 2000 บาท ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคกับพี่น้องประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง รวมถึงการทำ Primary Vote ด้วย

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ในที่ประชุมมีการหารือเช่นกัน แต่ยังไม่ได้มีมติอย่างเป็นทางการ คือกรณีมาตรา 34 ใน พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯปัจจุบัน ที่มิให้รัฐมนตรี หรือ ส.ส.ของพรรค ไปช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงได้ ซึ่งขัดหรือแย้งกับความเป็นจริง ดังนั้นในการประชุมคราวถัดไปจะมีการหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง โดยความเห็นของคณะทำงานฯเห็นว่าควรจะมีการแก้ไข เพื่อให้รัฐมนตรีหรือ ส.ส.ไปช่วยหาเสียงได้ และมีความเห็นจากหลายพรรคการเมืองเห็นสอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกัน