พาณิชย์มั่นใจ ‘ส่งออก’ โตทะลุ 2 หลัก เกินเป้า

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคมขยายตัว 8.93% ชะลอตัวลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากปัญหาล็อกดาวน์ ขณะที่การส่งออกทั้งปีประเมินว่าจะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% และมีโอกาสสูงที่จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ระบุ การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2564 มีมูลค่าสูงกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 6 ด้วยมูลค่า 21,976 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนภาพรวมการส่งออก 8 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 176,961 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.25% การนําเข้า มีมูลค่า 175,554 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 30.97% ดุลการค้า 8 เดือนแรก เกินดุล 1,406 ล้านดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี จากสินค้าอุตสาหกรรมหลาย รายการยังเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นสัญญาณบวกต่อภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของไทย ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ํามัน มาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ในสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป และการเร่งฉีด วัคซีนทั่วโลก ส่งผลดีต่อกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าและค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยที่เน้นการแข่งขันด้านราคา ทั้งนี้ประเมินว่าการส่งออกทั้งปี 2564 จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% และมีโอกาสเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักได้สูง

อ่านข่าว : โควิด กระทบส่งออกไทยเดือนส.ค.โต 8.93 %

ด้านสินค้าส่งออก มีการขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ฯ น้ํามันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสําปะหลัง ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง และน้ําตาลทราย สินค้าที่ เกี่ยวข้องกับการทํางานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต และสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือย ที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสําคัญยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอลงบางส่วนจากผลกระทบของ การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ โดยตลาดส่งออกสําคัญ ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดในอาเซียนยังเติบโตได้ดี ยกเว้นสิงคโปร์ เวียดนาม และเมียนมา อย่างไรก็ดี ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา และรัสเซียและ CIS ยังมีอัตราการขยายตัวในระดับสูง