สูงวัยต้องลอง "สวดมนต์ คิดเลข เล่นเกมจับคู่" ช่วยแก้ "อัลไซเมอร์"

สูงวัยต้องลอง "สวดมนต์ คิดเลข เล่นเกมจับคู่" ช่วยแก้ "อัลไซเมอร์"

“ความหลงลืม การขี้ลืม” อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติของใครหลายๆ คน เพราะในแต่ละเดือน หรือในแต่ละวันก็อาจจะมีบางช่วงบางเวลา ที่เราอาจจะลืมโทรศัพท์ ลืมกุญแจบ้าน  กุญแจรถ

ทว่าหาก "ความหลงลืม" นั้น ลืมจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ความหลงลืมเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นโรคสมองเสื่อมโดยไม่รู้ตัว

เดือนก.ย.นี้ หลายๆ คนอาจจะเรียกว่าเป็นเดือนแห่งอัลไซเมอร์ ซึ่งในทุกวันที่ 21 กันยายนของทุกๆ ปี จะถูกประกาศไว้ว่าเป็นวันอัลไซเมอร์ ที่หลายหน่วยงานได้ออกมาเชิญชวนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุตระหนักถึงโรคภาวะสมองเสื่อม เพราะต่อให้โรคนี้ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็น แต่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

สถาบันประสาทวิทยา ได้มีการจัดกิจกรรมตลอดเดือนกันยายน 2564 นำเสนอความรู้มากมายเกี่ยวกับ พบกับความรู้เรื่องโรคความจำเสื่อม โรคสมองเสื่อมผ่านทางเฟสบุ๊กสถาบันประสาทวิทยา ทุกวันพฤหัสบดี เที่ยงครึ่ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญโรคสมองเสื่อมมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ  Smart Brain, Smart People

 

  • “อัลไซเมอร์”สมองเสื่อมที่ต้องระวัง

พญ.ทัศนีย์  ตันติฤทธิศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การเป็นผู้สูงอายุ Smart Brain, Smart People นั้น คำว่า Smart ในที่นี้หมายถึงผู้สูงอายุที่มีร่างกายแข็งแรง มีความจำที่ดี เป็นคนคิดบวก มีความสุขในการมองโลก ทำความดี มีบารมีแก่คนทั่วไป และมีปฎิสัมพันธ์ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น แต่อายุยืนในที่นี้ก็มีโรคเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุมากเช่นเดียวกัน

สูงวัยต้องลอง \"สวดมนต์ คิดเลข เล่นเกมจับคู่\" ช่วยแก้ \"อัลไซเมอร์\"

“ภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุถือว่าเป็นปัญหา  เพราะคนสูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นโรคสมองเสื่อมเสมอไป แต่หากมีความจำที่ไม่ค่อยดี คิดอ่านช้าลงย่อมมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถือว่ามีความผิดปกติ ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และได้รักษาตั้งแต่เริ่มแรก  ซึ่งภาวะสมองเสื่อม มีได้หลายสาเหตุ มีทั้งชนิดที่ เลือดสมอง หรือสมองขาดเลือดส่วนบริเวณความจำก็ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน” พญ.ทัศนีย์ กล่าว

 

  • หลงลืมขนาดไหน? ถึงอัลไซเมอร์

นพ.เจษฎา เขียวขจี นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่าสมองเสื่อมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหลักๆที่จะเจอ คือ คนไข้หลงลืม มีการถามซ้ำๆ ในระยะเวลาไม่นาน มีปัญหาหลงทางในบ้าน หลงทิศ หลงเวลา หลงวันที่ หรือมีปัญหาการใช้ภาษา นึกคำพูดไม่ออก มีปัญหาการพูดคุย รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรม มีการทำซ้ำๆ คิดซ้ำๆ ควบคุมตนเองได้น้อย

หลายคนอาจจะมองว่าอายุเยอะมีความหลงลืมได้ แต่ถ้ากระทบ 3 อย่างนี้ต่อไปนี้ ต้องพามาพบแพทย์ เพราะถือว่ามีความผิดปกติ คือ

1.ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จำไม่ได้ว่าตัวเองอาบน้ำแล้ว หรือจำไม่ได้ว่าต้องอาบน้ำ  หรือจำไม่ได้ว่าตัวเองต้องทำอะไร  

2.ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ผู้สูงอายุของไทยส่วนหนึ่งมีประสิทธิภาพสามารถทำงานได้ แต่หากมีภาวะสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ จะไม่สามารถทำได้แล้ว มีปัญหาเรื่องการวางแผนการทำงานที่ผิดพลาด

3.ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม เช่น แยกตัวออกจากที่ทำงาน ครอบครัวมากขึ้น  และมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม ควบคุมตนเองไม่ได้

เมื่อใดก็ตามที่กระทบ 3 ด้าน ต้องรีบพามาพบแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์

สูงวัยต้องลอง \"สวดมนต์ คิดเลข เล่นเกมจับคู่\" ช่วยแก้ \"อัลไซเมอร์\"

  • โรงพยาบาลมีบริการเช็คอัลไซเมอร์เบื้องต้น

นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ปกติ ถ้าของหายเล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่มีผลอะไรมาก เช่น หายเดือนละ 1-2 ครั้ง อาจจะไม่ได้เป็นภาวะสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ แต่หากทั้งวันไม่ทำอะไร เอาแต่หาของอย่างเดียว หรือของหายบ่อยมาก รวมถึงของมีค่าต่างๆ ก็หายและคนไข้ตามหาตลอดเป็นระยะเวลาหลายเดือน อาการเหล่านี้ควรรีบพามาพบแพทย์ แต่ถ้าหลงลืมเดือนละครั้งหรือนานครั้งๆ อันนี้ไม่เข้าข่ายเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเกิดขึ้นได้

“ตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเรื่องการจัดการระบบสมองเสื่อมสำหรับคนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ดังนั้น ทุกโรงพยาบาลจะมีบุคลากร ทีมแพทย์ พยาบาลที่ผ่านการอบรม มีความเชี่ยวชาญสามารถประเมินผู้ป่วยผู้สูงอายุเบื้องต้นได้ และกรณีอยู่จังหวัดไหน ถ้ามีญาติใกล้ชิด หรือผู้สูงอายุกังวลว่าตัวเองจะมีภาวะสมองเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์ สามารถไปขอเช็คเบื้องต้นได้ที่รพ.ได้ ซึ่งจะมีตรวจประเมินว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ หรือต้องส่งต่อไปรพ.อื่นๆ” นพ.เจษฎา กล่าว

  • สวดมนต์ ป้องกัน อัลไซเมอร์ ได้

การป้องกัน “อัลไซเมอร์” นั้นสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การสวดมนต์ก่อนนอน ซึ่งถือเป็นการฝึกสมาธิให้ดีขึ้น และสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น  นอกจากนี้ ช่วงกลางวันก็ต้องทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทำอาหาร การซักผ้า การพับผ้าต่างๆ ถ้าทำอยู่ อยากให้ทำปกติ

ถ้ามีภาวะความจำไม่ค่อยดี แนะนำการจดบันทึกประจำวัน ทบทวนตัวเองว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว เล่นเกมจับคู่ภาพเหมือน การเล่นเกมเขาวงกตต่างๆ เป็นการฝึกรู้ทิศทาง  การบวกลบเลข การระบายสีต่างๆ เป็นต้น

การป้องกันที่ดีที่สุด และมีการรับรองโดยองค์การอนามัยโลกคือ การออกกำลังกาย การเสริมสร้างและบริหารสมอง การทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสไม่ซึมเศร้า รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและยาเสพติด และยังคงติดต่อปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเสมอ โดยเฉพาะในวัยเกษียณ ยังไม่มีรายงานอาหารเสริมที่จะได้ประโยชน์ในการป้องกันความจำเสื่อม จึงยังไม่มีคำแนะนำให้ซื้อหามารับประทาน

  • แนวทางรักษา ฟื้นฟู “อัลไซเมอร์”

อย่างไรก็ตาม การรักษา หากเริ่มรู้สึกว่าตัวเองหลงลืมบ่อย อย่าลืมสำรวจตนเองว่าช่วงนี้วางแผนการทำงานดีหรือไม่ มีความเครียดหรือไม่ พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สติและสมาธิครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เราหลงลืมได้ เช่น ลืมกุญแจ ลืมโทรศัพท์ เป็นต้น แต่หากเราสังเกตเห็นคนในครอบครัว ถามแล้วถามอีก ถามซ้ำ ๆ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถามไปแล้ว หรือเราบอกไปแล้ว อันนี้เข้าข่ายอาการของโรคความจำเสื่อม ซึ่งเจ้าตัวมักจะไม่รู้ตัว ควรต้องรีบไปรับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากพบสาเหตุที่รักษาได้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความจำเสื่อมถาวร

ในผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่ตรวจหาสาเหตุแล้วพบว่าเป็นอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมียาชนิดรับประทาน เพื่อช่วยชะลอความเสื่อม ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้ ซึ่งต้องเข้ารับการตรวจรักษาและสั่งยาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาท

ท้ายสุดคือการฟื้นฟู โดยเฉพาะความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะจะเป็นตัวชี้บ่งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ หากสามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลงหรือโอกาสในการมีชีวิตยืนยาวก็จะลดลงด้วย การฝึกสอนโดยอาศัยกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน การฝึกให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง การเอาใจใส่ดูแลทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจของผู้สูงอายุ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน