ไมเนอร์ ฟู้ดฯ อ้อนร่วม “คนละครึ่งเฟส 3” ฉีกแคมเปญ 1 แถม 1 ปลุกยอดขายไตรมาส 4

ไมเนอร์ ฟู้ดฯ อ้อนร่วม “คนละครึ่งเฟส 3”  ฉีกแคมเปญ 1 แถม 1 ปลุกยอดขายไตรมาส 4

ผ่านคลายล็อกดาวน์เกือบเดือน ธุรกิจร้านอาหารเริ่มกลับมามีสีสัน แต่ “ผู้บริโภค” ยังขยาดไวรัส กลัวการออกจากบ้าน ทำให้ห้างค้าปลีก มีลูกค้าบางตา ร้านอาหารจำนวนไม่น้อยไร้เงาผู้ใช้บริการ แม้เป็นเวลาเร่งรีบ มื้อสำคัญ

ทว่า ธุรกิจต้องกัดฟันงัดอาวุธการตลาดออกมาเพื่อสร้างการเติบโต หนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครือข่ายร้านอาหาร(เชน) ยกให้ “ไมเนอร์ ฟู้ดฯ” มีแบรนด์มากมาย ร้านนับ “พันสาขา” ทำรายได้หลัก “หมื่นล้านบาท”

ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะพิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อรัฐมีมาตรการห้ามนั่งทานในร้านหรือไดอิน ส่งผลให้ยอดขายเป็นศูนย์ ขณะที่การกลับมาเปิดบริการนั่งทานในร้านได้ตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ผู้บริโภคยังไม่กลับเข้ามาใช้บริการดังเดิม เนื่องจากกังวลโรคระบาด ทำให้ร้านที่อยู่ในศูนย์การค้ามีลูกค้าบางตา

ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการสั่นคลอน โดยเฉพาะกังวลจะเจอมาตรการ “เปิดๆปิดๆร้าน” อีกครั้ง การดำเนินธุรกิจจึงต้องมีความ “คล่องแคล่วว่องไว” หรือ Agility ในการปรับตัวทันท่วงที เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ธุรกิจอยู่รอดได้

“บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 มีเยอะมาก แต่สิ่งสำคัญสุดในการขับเคลื่อนธุรกิจคือ Agility ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เช่น เจอมาตรการห้ามไดอิน ต้องนำวัตถุดิบไปสร้างสรรค์พิซซ่าหน้าใหม่ ภายใน 7-10 วันต้องมีแคมเปญการตลาดใหม่ทันที พนักงานของเดอะ พิซซ่า คอมปะนีจะต้องไปอยู่ในร้านที่เปิดและยอดขายดี”

ล่าสุด เกมรบเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ส่งแคมเปญปลุกกำลังซื้อไตรมาส 4 และขานรับการเปิดประเทศ ด้วยโปรโมชั่น “1 แถม 1 รอบพิเศษ” กับเมนูพิซซ่าทุกหน้า สั่งได้ทุกช่องทางทั้งนั่งทานที่ร้าน ซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี่ แต่ละสัปดาห์จะมีแฟลชเซลล์ เดลิเวอรี่ฟรี ถือว่าฉีกกฏเดิมที่มีเงื่อนไขพอตัว

ทังนี้ 4 ตุลาคม รัฐจะคิกออฟมาตรการ คนละครึ่งเฟส 3 แม่ทัพ ภาณุศักดิ์ เรียกร้องให้เชนร้านอาหารมี “สิทธิ์” ได้รับประโยชน์บ้าง เพราะจดทะเบียนนิติบุคคล มีการเสียภาษีบำรุงประเทศเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงควรได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ที่ผ่านมารัฐออกโครงการคนละครึ่ง ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภค “ไม่เข้าร้านอาหารเลย” เพราะไปใช้สิทธิ์ในร้านนอกระบบ หรือไม่ใช่นิติบุคคลก่อน

“ทำไมรัฐไม่ให้เราเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เพราะเราเสียภาษี จึงควรให้ภาษีนั้นกลับมาช่วยเราบ้าง เพราะบริษัทยิ่งใหญ่ ยิ่งเจ็บ เพราะร้าน พนักงาน ทุกอย่างต้องดูแล หากรัฐอะลุ้มอล่วยได้ ร้านอาหารได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง”

ระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 มาตรการสกัดโรคระบาดจากรัฐ ยังทำให้ร้านเดอะ พิซซ่าฯ ส่งผลผลกระทบให้ยอดขายในร้านล่าาสุดหดตัว 70% เฉพาะกันยายน หดตัวเล็กน้อย 3-4% ส่วนเดลิเวอรี่มีการเติบโต 50-60% ต่อเนื่อง เพราะหนึ่งในจุดแข็งของแบรนด์คือการเสิร์ฟความอร่อยถึงบ้านมานานกว่า 20 ปี

“ตอนนี้ไดอินฟื้นตัว 30% สถานการณ์จะปกติเมื่อไหร่..ขึ้นอยู่กับการเปิดเมือง ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ”

ทั้งนี้ พิษสงโควิด มาตรการรัฐยังกระทบการลงทุนเปิดร้านเดอะ พิซซ่าฯ ด้วย ปกติจะมีการขยายร้านใหม่ 40 สาขาต่อปี ลงทุนเฉลี่ย 10 ล้านบาท แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปิดร้านชั่วคราวและถาวร 21 สาขา ปัจจุบันมีร้านให้บริการทั้งสิ้น 405 สาขา

สำหรับภาพรวมตลาดพิซซ่า มีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท ภาพรวมตลาดหดตัว ขณะที่ปี 2564 เดอะ พิซซ่า คอมปะนี คาดการณ์ยอดขายแตะ 7,000 ล้านบาท หดตัวราว 10-15% โดยช่วงปิดเมือง ล็อกดาวน์ เดอะ พิซซ่าฯ สร้างยอดขายราว 40% ให้กับไมเนอร์ ฟู้ดฯ เมื่อเปิดเมืองมียอดขายราว 20% เพราะร้านอื่นๆกลับมาเปิดไดอินได้ อย่างไรก็ตาม เดอะ พิซซ่าฯ ถือเป็นแบรนด์ที่กระทบน้อยสุดของกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ดฯ ด้วย

“ปีนี้โตทรงตัวดีใจแล้ว เพราะภาพรวมตลาดพิซซ่าติดลบ”

ภาณุศักดิ์ มองเทรนด์ร้านอาหารหลังโควิดคลี่ึคลาย ห้างค้าปลีกจะดึงลูกค้าเข้าศูนย์ไม่ได้เหมือนเดิม แต่โจทย์จะโหดหินขึ้น จึงกระทบร้านอาหาร อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นชินสั่งเดลิเวอรี่แล้ว อนาคต “คลาวด์คิทเช่น” จะสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งเดอะ พิซซ่าฯ มีคลาวด์คิทเช่น 160 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้ ร้านอาหารในห้างค้าปลีกต้องอยู่ชั้นล่าง แทนชั้นบน เช่น 5-6-7 เพื่อรองรับเดลิเวอรี่

“New normal , Next Normal ผู้บริโภคจะกลับมานั่งทานที่ร้านยากขึ้น แนวโน้มร้านอาหารจะปิดตัวมากขึ้นด้วย”