TU ถือหุ้น RBF 10% ต่อยอดโปรดักท์อาหาร-ขยายตลาดต่างประเทศ

TU ถือหุ้น RBF 10% ต่อยอดโปรดักท์อาหาร-ขยายตลาดต่างประเทศ

2ผู้ถือหุ้นใหญ่“ อาร์บีเอฟ“ขายหุ้นบิ๊กล็อต 200 ล้านหุ้น หรือ 10% ให้ ”ไทยยูเนี่ยน”ราคาหุ้นละ 15 บาท มูลค่า 3 พันล้านหวังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เล็งออกสินค้าร่วมกันคาดชัดเจนปลายปีนี้ โบรกคาดช่วยหนุนยอดขายเติบโต-ขยายตลาดไปต่างประเทศ

วานนี้ (20 ก.ย.) ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF คือ นางเพ็ชรา รัตนภูมิภิญโญ และนายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ขายหุ้น RBF ผ่านกระดานรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) จำนวน 200 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ที่ราคาหุ้นละ 15 บาท มูลค่า 3,000 ล้านบาท ให้กับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU

นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลัง TU เข้ามาถือหุ้นในบริษัท คาดว่าจะเห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันได้อีกมาก จากที่ TU มีความต้องการขยายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและสินค้านวัตกรรม สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของ RBF โดยปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมีการพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2564 หรืออย่างช้าในปี 2565

ทั้งนี้ รายละเอียดการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ว่าจะขายผ่าน RBF หรือ TU รวมถึงจะต้องจัดตั้งบริษัทร่วมทุนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งในประเทศและต่างประเทศอาจมีความแตกต่างกัน แต่เบื้องต้นความร่วมมือดังกล่าวจะเห็นความชัดเจนของตลาดในประเทศก่อน

TU ถือหุ้น RBF 10% ต่อยอดโปรดักท์อาหาร-ขยายตลาดต่างประเทศ

สำหรับการเข้ามาถือหุ้นของ TU ในครั้งนี้ เป็นการซื้อหุ้นต่อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมของบริษัท ส่งผลให้ TU กลายเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) แม้ราคาขายจะต่ำกว่าราคาบนกระดาน แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ประเมินแล้วว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจที่จะได้รับจะส่งผลบวกกลับไปยังผู้ถือหุ้น โดยขอให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่าบริษัทจะไม่มีการเพิ่มทุน เพราะฐานะการเงินยังเแข็งแกร่ง และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ยังต่ำ 0.16 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2564

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยอมรับว่ายอดขายไตรมาส 3 ปี 2564 ถูกกระทบจากโควิด-19 และเป็นไตรมาสที่ถูกกระทบหนักที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี บริษัทเริ่มเห็นการฟื้นตัวของยอดขายในเดือน ก.ย. และคาดว่าสถานการณ์ในไตรมาส 4 ปี 2564 จะดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทจึงคงเป้าหมายรายได้ปี 2564 ไว้ที่ 10-12% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,187.27 ล้านบาท

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้ามาถือหุ้นของ TU แม้ว่าราคาขายที่ 15.00 บาทต่อหุ้น จะต่ำกว่าราคากระดานที่ 19.90 บาทต่อหุ้น แต่ RBF จะได้ประโยชน์ทางและโอกาสทางธุรกิจมหาศาล ได้แก่ การจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร  (Food Additive) จากเดิมที่ขายให้กับ TU อยู่แล้ว แต่ขายในปริมาณที่น้อย ขณะที่ภายหลังการเข้าถือหุ้นของ TU คาดว่า RBF มีโอกาสจำหน่ายวัตถุเจือปนอาหารมากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ยอดขายของบริษัทเติบโต

ถัดมาคือโอกาสการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งพันธมิตร TU มีเครดิตที่ค่อนข้างดีในสหรัฐและยุโรป โดยคาดว่า RBF มีโอกาสร่วมทุน (JV) ในการคิดค้นธุรกิจและผลิตภัณฑ์ร่วมกันเพื่อจำหน่ายในตลาดที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมบริษัทเน้นขยายตลาดในภูมิภาค และสุดท้ายคือการต่อยอดสารสกัดกัญชงกับผลิตภัณฑ์ของ TU เช่น น้ำมันตับปลา หรืออาหารสัตว์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย

สำหรับการลงทุน บล.กสิกรไทย แนะนำ “ซื้อ” เพราะคาดว่าคำสั่งซื้อและยอดขายจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2564 ภายหลังการเปิดเมือง รวมถึงได้แรงหนุนจากการเริ่มจำหน่ายสินค้ากัญชงในช่วงปลายไตรมาส โดยฝ่ายวิจัยให้ราคาเหมาะสมที่ 22.00 บาทต่อหุ้น แต่มีโอกาสปรับเพิ่มราคาเป้าหมายภายหลังบริษัทชี้แจงรายละเอียดดีลการซื้อหุ้นของ TU ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรปี 2564 ที่ 545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนที่ 519.02 ล้านบาท แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน