คลังชงเพิ่มกรอบเพดานก่อหนี้สาธารณะ70%

คลังชงเพิ่มกรอบเพดานก่อหนี้สาธารณะ70%

คลังชงคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังจันทร์นี้อนุมัติขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะจาก 60%เป็น 70% เพื่อรองรับการกู้เงินนำมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 โดยกรอบที่เพิ่ม 10% นั้น จะสามารถกู้เงินได้เพิ่มราว 2 ล้านล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันจันทร์นี้(20ก.ย.)จะมีการประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีคณะกรรมการที่มาจากผู้บริหารระดับสูงของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)และสำนักงบประมาณ

แหล่งข่าวกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณา คือ การพิจารณาว่า จะขยายกรอบการก่อหนี้สาธารณะออกไปหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่ระบุว่า จะต้องพิจารณากรอบเพดานการก่อหนี้ในทุกๆ 3 ปี ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกหลังของการพิจารณาหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาคณะกรรมการ จะได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่า รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณากรอบเพดานการก่อหนี้หรือไม่ โดยเสนอทางเลือกให้คณะกรรมการพร้อมทั้งเหตุผลประกอบการพิจารณา ซึ่งหนึ่งในทางเลือก คือ การขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ให้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่อยู่ไม่เกิน 60% ของจีดีพี

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรอบเพดานการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจำนวนประมาณ 10% นั้น จะทำให้รัฐบาลมีช่องทางการกู้เงินได้เพิ่มอีกราว 2 ล้านล้านบาท โดยคิดจากระดับหนี้สาธารณะที่คาดการณ์ว่า จะอยู่ในระดับ 58.8% ในสิ้นปีงบประมาณ 2564 หรือ สิ้นเดือนก.ย.นี้

ทั้งนี้ มีการมองว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ หากรัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่ม ระดับเพดานการก่อหนี้ก็อาจจะทะลุเกิน 60% ต่อจีดีพี เนื่องจาก ระดับจีดีพีของประเทศนั้น อาจขยายตัวในอัตราต่ำหรือมีโอกาสจะติดลบได้ในปีนี้ หากโควิด-19 ยังระบาดกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะขยับกรอบเพดานการก่อหนี้

ขณะที่ ระดับการก่อหนี้นั้น หากกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 65%ต่อจีดีพี ก็อาจจะไม่เพียงพอ หากโควิด-19 ยังระบาดหนัก แต่หากเกิน 70%ไปที่ 80% ขึ้นไป ระดับดังกล่าวอาจกระทบต่อเครดิตประเทศ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่คณะกรรมการจะอนุมัติตามที่คลังเสนอ คือ ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยออกพ.ร.ก.เงินกู้รวม 2 ฉบับ เป็นวงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท  ซึ่งส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยก่อนโควิด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล อยู่ที่ 6.901 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 41.04% ของจีดีพี แต่ ณ ก.ค.2564 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล ปรับพุ่งขึ้นเป็น 8.909 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 55.59% ของจีดีพีและคาดว่า จนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2564 หรือสิ้นเดือนก.ย.นี้ ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล จะขึ้นไปถึง 58.8 % ซึ่งใกล้เคียงกับเพดานการก่อหนี้สูงสุดที่รัฐบาลจะทำได้

ที่ผ่านมา เพดานการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่ไม่เกิน 60% ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน  มีบางช่วงที่กระทรวงการคลัง มีแนวความคิดที่จะปรับลดเพดานดังกล่าวลงมาเหลือไม่เกิน 55% แต่ในที่สุดก็ยังคงเพดานที่ 60% ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยเคยมีระดับหนี้เฉียดเข้าใกล้ 60% ต่อจีดีพีแต่ไม่เคยทะลุ 60% ต่อจีดีพี