‘วรพล’ แนะเดินหน้าระบบ ‘เงินดิจิทัล’ ดึงท่องเที่ยว – ลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจ

‘วรพล’ แนะเดินหน้าระบบ ‘เงินดิจิทัล’  ดึงท่องเที่ยว – ลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจ

"วรพล"แนะรัฐสร้างระบบนิเวศน์พัฒนาเงินดิจิทัล ธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมสร้างความเข้าใจประชาชน ลดต้นทุนการเงินแบบเดิม สร้างโอกาสเศรษฐกิจ การลงทุน-ท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่ม เผยพ.ร.บ.ให้อำนาจรมว.โดยการเสนอแนะของ ธปท.พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่ๆได้

ปัจจุบันธุรกรรมเงินดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการชำระเงินระหว่างภาคธุรกิจ การชำระเงินระหว่างประชาชน รวมทั้งการจ่ายเงินช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนผ่านระบบพร้อมเพย์ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากหากเทียบกับในอดีต โดยธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นได้ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ยังมีขอบเขตที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบเงินดิจิทัลในประเทศได้อีกมาก

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมพร้อมประเทศไทยสู่ระบบการเงินยุคใหม่ทั้งดิจิทัล และควอนตัม และสังคมไร้เงินสดที่มีประสิทธิภาพ

‘วรพล’ แนะเดินหน้าระบบ ‘เงินดิจิทัล’  ดึงท่องเที่ยว – ลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจ

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มากฎหมาย พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน 

ดร.วรพล เล่าว่าในตอนที่ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินนั้นกรรมาธิการฯได้มองเห็นแนวโน้มความสำคัญของธุรกรรมเงินออนไลน์ และเงินดิจิทัลที่กำลังจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะรองรับจึงมีการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีความจำเป็นมากสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่การใช้เงินสดมีข้อจำกัดมากขึ้น

ลดต้นทุนการเงินแบบดั้งเดิม 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราชำระเงินด้วยเงินสดอย่างเดียว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตร และต้นทุนในส่วนนี้ก็มีมากปีหนึ่งนับหมื่นล้านบาท เช่น เมื่อเราไปซื้อของแทนที่จะต้องไปถอนเงินที่ธนาคาร หรือตู้เอทีเอ็มแล้วไปซื้อของที่ร้าน แล้วร้านขายของได้ก็ต้องเอาไปเข้าธนาคารอีกแบบนั้นเป็นต้นทุนที่สูงแต่ละปี การชำระเงินแบบเดิม เมื่อเป็นเงินสดการเคลื่อนไหวของเงินช้ากว่าเงินดิจิทัลหลายเท่า ยกตัวอย่างเช่นหากมีคนมานั่งประชุมอยู่ในสถานที่ใหญ่ๆหลายร้อยคน ทุกคนมีเงินในกระเป๋าอยู่หมื่นบาท  รวมกันเป็นเงินหลายสิบล้านบาทแบบนี้เงินส่วนนี้ก็เคลื่อนไหวไม่ได้ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับเศรษฐกิจ

ดังนั้นการผลักดันให้มีการใช้เงินดิจิทัลจึงมีความสำคัญมากทั้งเพื่อความสะดวกและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่ และทำให้เงินหมุนเวียนได้มากขึ้นสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อีกปีละหลายหมื่นล้านบาท

เงินดิจิทัลช่วยฟื้นเศรษฐกิจดึงท่องเที่ยว - ลงทุน 

ดร.วรพลกล่าวว่าแม้จะมีกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล คือ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2560 ทำให้การชำระเงินทำได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย มีทั้งที่เป็นคิวอาร์โค้ดในการชำระเงิน เกิดแพลตฟอร์มที่เป็นแอพพลิเคชั่น ระบบการชำระเงินที่เป็นธนบัตร กระดาษ หรือเหรียญ เปลี่ยนเป็นระบบอีย์มันนี่ การจ่ายเงินทำได้รวดเร็ว แต่ประเด็นต่อมาที่จะต้องให้ความสำคัญก็คือในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศน์และสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เงินดิจิทัลในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการลงทุน และช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวเนื่องจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคามคุ้นเคยกับระบบการชำระเงินดิจิทัลให้ได้รับความสะดวกสบายในการจับจ่ายและลงทุนมากขึ้น

โดยการใช้เงินสดน้อยลงจะมีความปลอดภัยมากขึ้น มีการติดตาม บันทึกได้มากขึ้น การหมุนเวียนของเงินทั้งในและต่างประเทศทำได้เร็วมากขึ้นและ ทำเศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบ นอกจากนี้ในอนาคตการระดมทุน กู้ยืมเงินจากประชาชน เช่นการออกพันธบัตรก็สามารถที่จะออกเป็นทั้งระบบเดิมคือออกแบบกระดาษ หรือออกมาในระบบใหม่ผ่านบล็อกเชน ที่เป็นรูปแบบใหม่ก็ได้ในอนาคต ส่วนข้อเสียคือระบบนี้จะลดบทบาทของตัวกลาง ที่เป็นสถาบันเช่นธนาคารพาณิชย์ และสถาบันตัวกลางทางการเงิน ดังนั้นการพัฒนาระบบนี้ต้องค่อยๆทำ ในลักษณะของการค่อยๆเปลี่ยนผ่าน

ทั้งนี้ระบบชำระเงินตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้แบ่งออกเป็น 3 – 4 ช่วง ช่วงแรกเป็นการชำระเงินระหว่างบุคคลกับบุคลล ระหว่างสถาบันกับบุคคล ระหว่างสถาบันกับสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ในระยะยาวจะช่วยให้มีระบบการชำระเงินที่คล่องตัวขึ้นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ หมายถึงว่าการชำระเงินในทุกระดับสะดวกมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้เงินสดอีกต่อไป การติดตามต่างๆทำได้ง่าย กฎหมายนี้ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการจัดทำรายละเอียด

“การชำระเงินโดยใช้ระบบดิจิทัลต่างๆเช่นการใช้คิวอาร์โค้ดก็ทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้นและโครงการต่างๆของรัฐบาลก็ได้รับประโยชน์มากขึ้นในขณะนี้ เช่น มาตรการคนละครึ่ง มีความสะดวกทั้งร้านค้า และประชาชน การเข้าสู่ระบบ G-money ซึ่งระบบในลักษณะนี้จะสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในระยะยาว ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายประเทศคุ้นเคยกับการชำระเงินในรูปแบบนี้ ทำให้การเดินทางเข้ามาแล้วมาซื้อของต่างๆทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น”  

 

โรงพิมพ์ธนบัตรดิจิทัลเทคโนโลยีบล็อกเชน 

ดร.วรพลกล่าวว่าใน พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน มีมาตราที่สำคัญมากของกฎหมายฉบับนี้คือมาตราที่ 12 ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรงงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการจะประกาศระบบการชำระเงินที่เป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบการชำระเงินที่เป็น สกุลเงินดิจิทัล (digital currency) บล็อกเชน เข้ามาใช้ให้ ธปท.ทำหน้าที่เป็นผู้วางระบบต่อไป ทำให้ในอนาคตจะไม่ต้องใช้เงินที่เป็นกระดาษ หรือเหรียญอีกต่อไป ซึ่งเป็นการพัฒนาจากอี-มันนี่ ไปสู่การพัฒนาระบบบล็อกเชน (blockchain) เสมือนเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ เป็นตัวกลางที่วางระบบเงินขึ้นมาด้วยวางรหัสไว้เป็นขั้นตอนเพื่อบันทึกรหัสดิจิทัลไว้ ซึ่งทำให้เกิดระบบเทคโนโลยีที่เป็นการพัฒนาทางการเงินดิจิทัลในขั้นที่ 3 ที่มีความโปร่งใสและชัดเจน ถือเป็นการสร้างระบบแบบใหม่ที่ทำได้ทั้งแบบรวมศูนย์ หรือกระจายออกไปได้ โดยความจำเป็นในการพิมพ์ธนบัตรก็จะลดลง

“สิ่งที่ ธปท.จะต้องทำก็คือส่วนที่มาจากแรงผลักดันซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่มีการออกสกุลเงินดิจิทัลของภาคเอกชน อันนั้นเป็นprivate ที่เริ่มมีการออกมา มีการวางระบบเข้ามาในส่วนย่อยที่ใช้กันในกลุ่มขนาดเล็กก่อน แต่ที่ ธปท.จะทำคือเป็นเรื่องของรัฐบาลเองที่ออกโดยธนาคารเองเป็น CBCD ที่ธนาคารกลางเข้ามาเป็นส่วนจัดการเอง ในระยะยาวมีประโยชน์อย่างมาก และธนาคารกลางเข้ามาทำก็เป็นประโยชน์มากและช่วยให้เกิดระบบที่ปลอดภัยและมั่นคงมีการประกันโดยทรัพย์สินที่หนุนหลัง มีความปลอดภัยกว่าคอยน์ต่างๆที่เราเคยได้ยินมา ”

แนะใช้ดิจิทัลบาทนำร่องจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

สำหรับการสนับสนุนเงินบาทดิจิทัล และดิจิทัลบาท จะช่วยให้การหมุนเวียนเงินที่เป็นดิจิทัลมีมากขึ้น โดยค่อยๆสร้างการเปลี่ยนผ่านโดยใช้ในเรื่องต่างๆเช่น กลไก งบประมาณแผ่นดิน กลไกของการลงทุนภาครัฐ ข้อดีคือมีระบบการกำกับที่ชัดเจนดูแลได้ มีระบบที่มั่นคงปลอดภัย ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการรับฟังความคิดเห็นและเตรียมการในระบบต่างๆ หลายขั้นตอน ขั้นแรกต้องสร้างความเข้าใจของประชาชน ถึงข้อดี ประโยชน์ ระบบที่รองรับให้สร้างความเชื่อมั่นได้

“การพัฒนาทางการเงินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในรูปแบบนี้ ได้ยาก ดิจิทัลบาท เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือภายใต้พรบ.ระบบการชำระเงินที่รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รองรับได้ในระดับที่รวดเร็ว โควิด-19 ทำให้การโอนเงินรวดเร็วมากขึ้น”

นอกจากนี้กฎหมายนี้ยังเกี่ยวข้องกับการวางไปสู่การบังคับคดีด้วย เพราะธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีผลทางกฎหมายป้องกันผู้บริโภคจากการบังคับคดี โดยระบบการชำระเงินเตรียมไว้หมด ในอนาคตอาจจะเป็นระบบควอนตั้ม เคอเรนซี่ก็ได้ ซึ่งถ้าเร็วมากๆแล้วคนไม่เข้าใจ หากเกิดวิกฤติการณ์คนก็อาจจะถอนเงิน ย้ายเงินอย่างรวดเร็วมากจึงต้องให้ความรู้ควบคู่กันไปด้วย