เปิดวิธีเช็ค "แบงก์ปลอม" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ"

เปิดวิธีเช็ค "แบงก์ปลอม" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ"

เตือนภัย! การจับจ่ายในยุคเศรษฐกิจไม่ดีมีโอกาสที่จะเจอ "แบงก์ปลอม" ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะธนบัตรราคาสูง ดังนั้นคนไทยควรรู้วิธีดู "ธนบัตรปลอม" โดยหนึ่งในวิธีสังเกตง่ายๆ แนะนำให้เช็คที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ" เป็นหลัก

ในยุคเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ใครที่จับจ่ายโดยใช้เงินสดต้องระวังให้ดี เพราะมีโอกาสที่จะเจอ "แบงก์ปลอม" ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะธนบัตรราคาสูงอย่างธนบัตรราคา 500 บาท หรือ 1,000 บาท โดยหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้คุณรู้เท่าทันมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร ก็คือ ต้องรู้จักสังเกตและแยกเงินจริงและเงินปลอมให้ออก

โดยทั่วไปวิธีสังเกต "ธนบัตรปลอม" มีอยู่หลายจุดสังเกตด้วยกัน แต่หากต้องการเช็คเร็วๆ ง่ายๆ แนะนำให้เช็คที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ" เป็นหลัก ซึ่งมีข้อมูลจาก "ธนาคารแห่งประเทศไทย" และ เพจ "ธนบัตรทุกเรื่อง" ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ดังนี้

วิธีสังเกต "แถบสีในเนื้อกระดาษ" 

สำหรับแถบสีในเนื้อกระดาษ ก็คือ “แถบสีทอง” ที่เป็นเส้นตามแนวตั้งของธนบัตร วิธีแยกแบงก์จริงกับแบงก์ปลอม หากสังเกตตรงจุดนี้จะเช็คได้ง่ายที่สุด โดยหากเป็นธนบัตรของจริง ต้องมองเห็นแถบสีทองได้ในลักษณะดังนี้

  • เมื่อดูธนบัตรในมุมปกติ จะมองเห็นแถบดังกล่าวเป็นเส้นประ แต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000 BAHT”

เปิดวิธีเช็ค \"แบงก์ปลอม\" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ \"แถบสีในเนื้อกระดาษ\"

  • เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวได้
  • แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้ 
  • แถบสีในธนบัตรแต่ละฉบับ จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันก็ได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา ตามระยะมาตรฐานกำหนด

อ่านข่าว : สุดช้ำ! แบงก์ปลอมว่อน ซ้ำเติมเศรษฐกิจแย่ โควิดระบาดหนัก

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสังเกตแบบอื่นๆ มาให้ประชาชนได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วย ดังนี้

วิธีสังเกต "ลายพิมพ์เส้นนูน" 

สิ่งที่ทำให้ธนบัตรจริงแตกต่างจาก "ธนบัตรปลอม" อีกอย่างหนึ่งก็คือ การพิมพ์ลายนูน เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ

ทำให้เกิดภาพและลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัดมากกว่าปกติ ซึ่งเทคนิคนี้ ถูกนำมาใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษร และตัวเลขแจ้งชนิดราคา หากเป็นแบงก์ของจริง เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะต้องรู้สึกสะดุดที่ลวดลายนั้น

แบงก์ของจริง ต้องมี "ลายน้ำ" 

ลายน้ำในธนบัตรของจริง เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ ที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยจะเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษด้วย

 

วิธีสังเกต "ภาพซ้อนทับ" และ "ตัวเลขแฝง"

ข้อสังเกตถัดมาคือ หากเป็นธนบัตรของจริงจะต้องมี "ภาพซ้อนทับ" โดยเกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง 

อีกทั้งต้องมี "ตัวเลขแฝง" ที่แจ้งชนิดราคา ซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ ซึ่งจะมองเห็นได้ ก็ต่อเมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง 

เปิดวิธีเช็ค \"แบงก์ปลอม\" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ \"แถบสีในเนื้อกระดาษ\"

เปิดวิธีเช็ค \"แบงก์ปลอม\" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ \"แถบสีในเนื้อกระดาษ\"

แบงก์ของจริง ต้องมี "ลายดอกประดิษฐ์" เปลี่ยนสีได้

ลายดอกประดิษฐ์ ชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท บน "ธนบัตรของจริง" นั้น จะถูกพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติที่เปลี่ยนสีได้ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี  

ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย ลวดลายจัดเรียงกันในแนวตั้ง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเห็นเป็นสีเหลือบเหลือง

เปิดวิธีเช็ค \"แบงก์ปลอม\" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ \"แถบสีในเนื้อกระดาษ\"

ถ้าเจอ "แบงก์ปลอม" ต้องทำไง?

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันยับยั้งธนบัตรปลอมด้วยการปฏิบัติ  ดังนี้ 

1. สังเกตทุกครั้งก่อนรับธนบัตร โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคาสูง  

2. หากพบธนบัตรปลอม ห้ามนำธนบัตรปลอมออกไปใช้อีก เพราะมีความผิดตามกฎหมาย 

3. ให้เขียนคำว่า "ปลอม" ลงบนธนบัตรเพื่อแยกแยะออกจากธนบัตรฉบับจริง แล้วนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งเข้าระบบ

4. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ โดยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด เช่น ได้รับมาอย่างไร จากใคร ที่ใด เป็นต้น รวมถึงจดจำลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่นๆ เกี่ยวกับผู้นำมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม 

5. โทรศัพท์แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย  โทร. 0 2356 7987

--------------------------

อ้างอิง : 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย/แจ้งจับกุม

ธนบัตรทุกเรื่อง